เมืองพุกาม โบราณสถานทะเลเจดีย์อันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำอิรวดี
พุกาม (อังกฤษ: Bagan) เมืองในประเทศพม่า เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณพุกาม (พ.ศ. 1587 - พ.ศ. 1830) เป็นอาณาจักรแห่งแรกในประวัติศาสตร์พม่า พุกาม เป็นเมืองที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ทั้ง ๆ ที่มีคุณสมบัติเต็มพร้อม ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่ากำลังพยายามเร่งเสนอชื่อและเตรียมความพร้อมให้เป็นมรดกโลกทางศิลปวัฒนธรรมแห่งต่อไป
พุกาม ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ อยู่ห่างประมาณ 90 ไมล์ หรือ 145 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมัณฑะเลย์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตเมืองเก่า (เขตที่ตั้งอาณาจักรพุกาม) เขตเมืองใหม่ (เขตที่อยู่อาศัยปัจจุบัน) และยองอู (เขตพาณิชยกรรมและเศรษฐกิจ) มีสนามบินชื่อ สนามบินยองอู เป็นสนามบินประจำเมือง รายได้หลักของเมืองคือ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนที่นี่เสมอทุกช่วงปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากแถบเอเชียด้วยกัน
พุกามได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์ หรือ ดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ เพราะในสมัยรุ่งเรืองเคยมีเจดีย์มากมายถึง 4,446 องค์ ปัจจุบันเหลือแค่เพียง 2,217 องค์ เจดีย์แห่งแรกของพุกามคือ เจดีย์ชเวซีโกน สร้างโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม โดยธรรมเนียมการสร้างเจดีย์ เจดีย์องค์ใหญ่สุดจะเป็นเจดีย์ที่กษัตริย์ทรงสร้าง และองค์ที่มีขนาดเล็กถัดมา เป็นการสร้างโดยเหล่าขุนนาง อำมาตย์ ลดหลั่นลงมาตามบรรดาศักดิ์
นอกจากเจดีย์ชเวซีโกนแล้ว ยังมีเจดีย์สำคัญ ๆ อีกหลายองค์และวัดสำคัญ ๆ อีกเช่น เจดีย์ชเวซันดอ, อานันทวิหาร, เจดีย์ตะเบียงนิว, วัดพะยาตองซู เป็นต้น
ประวัติศาสตร์เมืองพุกาม
เมืองพุกาม ถูกสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี แต่ปัจจุบันเหลือเพียงกำแพงเมืองด้านในและด้านตะวันออกเท่านั้น กล่าวกันว่า จำนวนเจดีย์ที่แท้จริงนั้นมีเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 องค์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างยิ่งใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเจดีย์ในปัจจุบัน ที่แม้จะต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่เจดีย์ที่ยังคงอยู่นั้นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เนื่องจากพุกามเป็นเขตแห้งแล้ง ทำให้เจดีย์ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติใดๆอีกทั้งชาวพม่าก็ถือคติไม่ทำลายเจดีย์อย่างเคร่งครัด
อาณาจักรพุกามนั้นมีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 16 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรพุกาม เพราะกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ล้วนมีความศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก กษัตริย์หลายพระองค์นิยมสร้างเจดีย์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลในรัชกาลของพระองค์จนทำให้เมืองพุกามขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งทะเลเจดีย์ 4000 องค์ อาณาจักรนี้ล่มสลายเพราะการบุกรุกเข้าทำลายของกองทัพมองโกลที่นำโดยกุ๊บไลข่าน (Kublai Khan) ในปี พ.ศ. 1830
ความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรพุกาม
ชาวพม่าเป็นชนเผ่าจากทางตอนเหนือที่ค่อยๆ อพยพแทรกซึมเข้ามาสั่งสมอิทธิพลในดินแดนประเทศพม่าทีละน้อย กระทั่งปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "พุกาม" (Bagan) โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวพยู
อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587–1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองท่าตอนของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากยันสิทธา (พ.ศ. 1624–1655) และพระเจ้าอลองสิทธู (พ.ศ. 1655–1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่ง คือเขมร(เมืองพระนคร) และพุกาม
ความเสื่อมของอาณาจักรพุกาม
อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อยๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกล
ที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านราธิหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยูนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงคราม ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด
พระเจ้านราธิหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น