วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

[บทความ] ประวัติ "ข้าวซอย" อาหารอร่อยของเมืองเหนือ

 http://photo.wongnai.com/photos/2013/02/09/b53a1ef4cf034b24a19d7e787fc652eb.jpg

[บทความ] ประวัติ "ข้าวซอย" อาหารอร่อยของเมืองเหนือ

ประวัติข้าวซอย
โดย ภูรินทร์ เทพเทพินทร์

ข้าวซอย...เป็นอาหารคู่เมืองเชียงใหม่ก็จริง แต่มีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนและสัมพันธ์โดยตรงกับประวัติศาสตร์สำคัญบางส่วนของประทศจีน รวมไปถึงเจงกิสข่านแห่งมองโกเลีย อย่างไม่น่าเชื่อ

ก่อนที่จะพูดถึงตัวข้าวซอย ก็ต้องพูดถึงคนผู้เป็นเจ้าตำรับข้าวซอยก่อน เจ้าตำรับข้าวซอยคือชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ชิงไห่ และก่านซู ของประเทศจีน หรือที่เรียกว่า จีนฮ่อ หรือ แข่ฮ่อ (แข่ เป็นภาษาไต ใช้เรียกชาวจีน) หรือ ฮ่อ ที่ผู้เขียนพูดถึงต่อไปนี้ จะหมายถึงคนจีนยูนนานที่นับถืออิสลามเท่านั้น เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คนจีนจากยูนนานที่เดินทางไปมาในถิ่นภาคเหนือของประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม ทิเบต อัสสัม และจีน ส่วนใหญ่เป็น คนจีนที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งนั้น


เนื่องจากพวกเขามีอาชีพ ค้าขายและลำเลียงขนส่งสินค้าด้วยสัตว์ต่าง ในภูมิภาคนี้มานมนานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน (กุบไลข่าน) ซึ่งตรงกับสมัยอาณาจักรโยนก (เชียงแสน) ของไทย หรือที่จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกว่า “เสียมกุก” - สยามแห่งลุ่มน้ำกก ที่นักประวัติศาสตร์เขมรบอกว่า ร่วมมือกับมองโกลทำลายอาณาจักรเขมรนครวัดอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรรมันลงจนป่นปี้ แต่นักประวัติศาสตร์ไทยกลับปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่าไม่จริง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าจริง เนื่องจาก ช่วงเวลาดังกล่าวประจวบเหมาะกับการพลุ่งขึ้นอย่างรวกเร็วของชนชาติพม่าจากทิเบตสู่ลุ่มแม่น้ำอิระวดีเข้ายึดครองดินแดนของมอญ และชนชาติไทยจากตอนใต้ของจีนสู่ลุ่มแม่น้ำโชงและแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ายึดครองดินแดนของเขมร.... แต่คราวนี้ขอว่ากันเรื่องประวัติข้าวซอยก่อนดีกว่านะ


http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/763/23763/images/wangmoak/IMG_0130.JPG

มีผู้อธิบายคำว่า “ฮ่อ” ไว้หลายทฤษฎี แต่ผู้เขียนเข้าใจว่า คำนี้มาจาก คำว่า “หุย” ซึ่งเป็นภาษาจีนหมายถึงชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งพวกมองโกลพามาจากเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง ปัจจุบันคือประเทศ คาซัคสถาน, กีรจีสถาน, ทาจิกิสถาน และ อูสเบกิสถาน ตอนแรกก็มาเป็นทหารร่วมในกองทัพมองโกล และถูกส่งมาควบคุมจุดยุทธศาสตร์ เส้นทางคมนาคม ต่อมากองทหารเหล่านี้ก็เข้าร่วมผสมปนเปกับชาวจีนและชนชาติพื้นเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ แถบเมืองต้าหลี่ จนลืมภาษาและวัฒนธรรมเอเชียกลางเดิมของตนหมด ยกเว้นภาษาอาหรับและศาสนาอิสลาม นอกนั้นรับเอาภาษาและวัฒนธรรมจีนมาใช้ทั้งหมด พวกเขาประกอบอาชีพค้าขายและขนส่ง ซึ่งชาวหุยส่วนนี้นอกจากจะในการใช้สัตว์พาหนะแล้วยังต้องใช้ความสามารถทางการค้าและการทหารไปพร้อม ๆ กัน

นี่คือเหตุผลที่ทำให้มุสลิมจีนแตกต่างไปจากมุสลิมในที่อื่น ๆ ของโลก แม้แต่ทุกวันนี้ในสังคมไทยก็มีความแตกต่างกันระหว่าง ฮ่ออิสลาม และไทยมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ

อยู่มาหลายร้อยปี จนกระทั่งปี ค.ศ.1856 (พ.ศ.2399) เกิดกรณี ชาวฮั่นสังหารหมู่ชาวหุยขึ้นในเมืองคุนหมิงโดยการสนับสนุนจากทางการราชวงศ์ชิง ชาวหุยจึงตอบโต้ด้วยการก่อกบฏภายใต้การนำของ ตู้เหวินซิ้ว เข้ายึดเมืองต้าหลี่ไว้ได้ ประกาศตัวเป็นเอกราช เรียกรัฐอิสลามของตนว่า ผิงหนานกว๋อ – “ประเทศทักษิณสันติสุข” แล้วส่งกำลังเข้าปิดล้อมเมืองคุนหมิงหลายครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะชาวหุยเท่านั้นแต่ยังมีชนชาติส่วนน้อยอื่น ๆ เช่น ไป๋ อาหนี หยีและไต เข้าร่วมด้วยเป็นอันมาก เนื่องจากเกลียดชังที่มีต่อการปกครองที่กดขี่ของราชวงศ์ชิง

กบฏมุสลิมในยูนนาน หรือกบฏฮ่อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับ “กบฏไท่ผิง” ค.ศ.1850–1864 (พ.ศ.2393-2407) ที่ต่อต้านความชั่วร้ายของการปกครองราชวงศ์ชิง นอกจากนี้กบฏไท่ผิงยังกระตุ้นให้เกิดกบฏหุยในมณฑลส่านซี และก่านซู ที่เรียกในประวัติศาสตร์จีนว่าว่า “กบฏตุ้นก่าน”
ฟังดูแล้วเหมือนกับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยไม่มีผิด เนื่องจากในเวลานั้นราชวงศ์ชิงเสื่อมทรามลงอย่างหนักใกล้ล่มสลาย ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง กดขี่รีดนาทาเร้นประชาชนอย่างหนักหน่วง ชาวหุยที่เป็นชนชาติส่วนน้อยยิ่งถูกกระทำอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าชาวฮั่น โดยเฉพาะในยูนนาน ก่านซู ชิงไห่ และซินเจียง ที่ถือว่าเป็นดินแดนห่างไกล

แต่ในที่สุด กบฏมุสลิมก็ถูกรัฐบาลชิงปราบปรามลงได้ราบคาบในปี ค.ศ.1873 (พ.ศ.2416) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย ว่ากันว่า ทางการจีนปราบปรามกบฏมุสลิมอย่างโหดร้าย มีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมอย่างไม่เลือกหน้า แบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยทีเดียว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในยูนนานหลายล้านคน ชาวหุยยูนนานจำนวนมากต้องอพยพหนีออกจากจีน เข้าไปในพม่า (ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ เมืองมัณฑะเลย์) ไทยและลาว บางส่วนก็เข้าปล้นสะดมบ้านเมืองต่าง ๆตามรายทางที่ผ่านไป จนเกิดกรณีอย่าง สงครามปราบฮ่อ (พ.ศ.2420-2428) ขึ้นเป็นต้น

ราวปี พ.ศ.2420 มีชาวฮ่อกลุ่มหนึ่งจำนวนหลายร้อยครอบครัวอพยพหนีการปราบปรามของรัฐบาลจีน มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่มณฑลพายัพ (เชียงใหม่) ทางการจึงให้พักอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือของตำบลข่วงสิงห์ บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า หนองฮ่อ อันเป็นที่ตั้งของสนามม้าหนองฮ่อ ทุกวันนี้ ต่อมาทางการจึงยอมผ่อนปรนให้ชาวฮ่อบางส่วนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านฮ่อ” ถนนเจริญประเทศ ตั้งแต่ตรอกสุเหร่าไปจนถึง กงสุลอังกฤษ บ้างก็ไปอยู่บ้านสันป่าข่อย และนอกประตูช้างเผือก ชาวฮ่ออพยพบางส่วนทางการก็ให้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง


http://bellhub.files.wordpress.com/2013/09/img_7430.jpg

ชาวฮ่อ (แข่บก หรือ แข่ฮ่อ) พอตั้งหลักแหล่งได้ ก็ประกอบอาชีพที่ตนถนัด คือทำการค้าขาย ส่วนหนึ่งก็ขายอาหาร เหมือนกับคนไทยที่ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ต่างประเทศ อาชีพแรก ๆ ที่มักจะทำคือเปิดร้านอาหาร เข้าใจว่าเชียงใหม่เวลานั้น มีคนจีนยังไม่มากนัก รวมทั้งบรรพบุรุษฝ่ายบิดาของผู้เขียน ซึ่งเป็นจีนแต้จิ๋ว (แข่น้ำ) ส่วนใหญ่อาศัยรวมกันอยู่ริมแม่น้ำปิงแถววัดเกตุฯ ร้านอาหารจีน ซึ่งตอนนั้นจะเป็นร้านข้าวต้ม และร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ยังมีไม่มากนัก ส่วนชาวฮ่อก็เปิดร้านข้าวซอย

ที่เรียกว่าข้าวซอย เพราะในสมัยนั้นไม่มีเครื่องจักรอย่างสมัยนี้ สมัยนั้นเขาทำเส้นบะหมี่กันสด ๆ แล้วลงหม้อต้มเลย ด้วยกระบวนการเอา แป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันแล้วนวด จนเข้ากันดี แล้วกดรีดให้เป็นแผ่น แล้วเอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้น นี่แหละเขาจึงเรียกว่า “ข้าวซอย”

มาจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2475 ชุมชนเมืองเชียงใหม่มีขนาดโตขึ้นมาก มีตลาดวโรรส หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า “กาดหลวง” เป็นตลาดกลางของเมืองเชียงใหม่ โอกาสหลังผู้เขียนจะค่อยเล่าความเป็นมาของกาดหลวงให้ฟัง ตอนนี้เอาเรื่องข้าวซอยก่อน ตอนนั้นมีร้านข้าวซอยฮ่อร้านหนึ่งมาตั้งอยู่ทางหลังตลาดบริเวณแถวศาลเจ้ากวนอู ในตรอกข่วงเมรุ ข้าวซอยสมัยนั้น ก็เป็นเพียงเส้นหมี่ลาดน้ำแกงไก่หรือแกงเนื้อ คล้ายขนมจีนน้ำเงี้ยวนั่นแหละ ไม่ได้ใส่กะทิใด ๆ เพราะคนไทยภาคเหนือยุคนั้นไม่นิยมอาหารที่มีกะทิ ขืนใส่กะทิก็ไม่มีคนกิน ร้านข้าวซอยเจ้านี้มีลูกจ้างชาวพื้นเมืองคนหนึ่งชื่อ “นายปัน” นายปันคนนี้ว่ากันว่าทำงานกับร้านข้าวซอยมาแต่เด็ก จึงรู้เรื่องและมีความชำนาญทุกอย่างเกี่ยวกับข้าวซอยเป็นอย่างดี

http://www.pholfoodmafia.com/webboard/images/webboard_img/9_20121001_122451.jpg

จนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ส่วนประเทศจีนอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร จึงกลายเป็นคู่สงครามกับไทย ชาวจีนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยในเชียงใหม่ ร่วมทั้งชาวฮ่อ ต้องถูกบังคับให้อพยพไปควบคุมอยู่ที่จังหวัดลำปาง นายปันจึงรับเอากิจการข้าวซอยมาทำต่อด้วยความยากลำบากในเศรษฐกิจในยุคสงคราม

http://www.bloggang.com/data/chim/picture/1257476010.jpg

ตราบจนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี พ.ศ.2488 ตอนนั้นเชียงใหม่ไม่มีร้านข้าวซอย ยกเว้น ร้านของนายปันเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ที่ข้างวัดช่างฆ้อง ถนนกำแพงดิน ไม่มีชื่อร้านแต่คนเชียงใหม่เรียกว่า “ข้าวซอยลุงปัน” หรือ “ข้าวซอยวัดช่างฆ้อง” เศรษฐกิจยุคหลังสงครามค่อย ๆ ดีขึ้นผู้คนจึงเริ่มกินเริ่มใช้ รวมทั้งคนจีนที่ถูกบังคับให้ไปอยู่ลำปางเริ่มทยอยกลับมาเชียงใหม่ พร้อมคลื่นอพยพของชาวจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่ หนี้การล่มสลายเศรษฐกิจของจีนภายใต้รัฐบาลก๊กมิ่นตั๋ง


http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2054748

เพื่อให้อยู่รอดของธุรกิจข้าวซอยลุงปันจึงพัฒนาข้าวซอยรูปแบบใหม่ ที่เป็น...ข้าวซอยหมู... ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ข้าวซอย ที่ได้พัฒนาแปลงศาสนาจากอิสลามมาเป็นพุทธ เนื่องจากปัญหาเรื่องแกง เวลานั้นเนื้อวัวขาดแคลน ถ้าใช้แกงฮังเล มาทานกับข้าวซอยก็จะไม่อร่อย ด้วยการลองผิดลองถูกจึงได้สูตรนำกะทิสดมาใช้ ปรากฏว่าฮิตบินติดตลาด ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ข้าวซอยลุงปันเปิดขาย ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ไปถึง บ่าย 2 โมงก็หมดแล้ว จนข้าวซอยลุงปัน กลายมาเป็นมาตรฐานข้าวซอยของคนเชียงใหม่ไป ชาวฮ่อที่กลับมาเชียงใหม่เริ่มเปิดขายข้าวซอยหลังปี พ.ศ.2500 ต่างก็ต้องปรับสูตรข้าวซอย ให้เข้ามาตรฐานของข้าวซอยลุงปันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ใช้กะทิสด มาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น