วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

[บทความ] "ตำนานสิงห์หน้าวัด ในดินแดนล้านนา"


"ตำนานสิงห์หน้าวัด ในดินแดนล้านนา"

รูปปั้นสิงห์หน้าวัด มักพบทั่วไปในล้านนา เนื่องจากอารยธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนศิลปกรรม ของพม่าได้แผ่ขยายเข้ามาหลังจากล้านนาได้ตกอยู่ภายใต้ อำนาจพม่า กว่า200 ปี รูป "นรสิงห์" ซึ่งพม่าเรียกว่า "มนุษย์สิงห์"

มีตำนานกล่าวว่า ราชสีห์ตัวหนึ่งได้ลักพาตัวมเหสีราชโอรสและราชธิดาของกษัตริย์ซึ่งยังเป็นทารกอยู่อีกทั้ง 2 พระองค์ แล้วเอาไปเลี้ยงในป่าครั้นโอรสเติบใหญ่ จึงนำพระราชมารดา และน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ในพระราชวังตามเดิม ฝ่ายราชสีห์เที่ยวติดตามหา พบผู้คนกีดขวาง จึงกัดตายเสียเป็นอันมาก ร้อนถึงกษัตริย์พระองค์นั้น สั่งให้ประกาศหาผู้ที่จะปราบราชสีห์ พระโอรสนั้นรับอาสาออกไปปราบ พระโอรสยิงศรออกไปทีไรก็ผิดพลาดหมด ไม่สามารถฆ่าราชสีห์ได้ ราชสีห์ซึ่งยังมีใจผูกพันธ์พระโอรสอยู่ก็ได้แต่แผดเสียง การต่อสู้ได้ดำเนินต่อไปจนราชสีห์เกิดโทสะ ขณะอ้าปากจะแผดเสียง พระโอรสจึงยิงศรกรอกปาก ฆ่าราชสีห์ตาย จนต่อมาราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ครองเมือง

เมื่อได้ปกครองเมืองแล้ว ก็เกิดมีอันเหตุเป็นไปต่างๆ แก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย จึงปรึกษาปุโรหิต ปุโรหิตทูลว่า เป็นเพราะบาปกรรมที่ได้ฆ่าพระยาราชสีห์ผู้มีพระคุณ ต้องทำรูปราชสีห์บูชาล้างบาปจึงจะแก้อาถรรพ์ได้ กษัตริย์จึงให้ทำรูปราชสีห์บูชาล้างบาปไว้กับวัดและเจดีย์ซี่งสถานที่บูชาและได้กลายเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น