วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

[บทความ] ตัว "มอม",,, เทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา

 



...‘มอม’... เป็นสัตว์ในตำนาน เป็นพาหนะของเทพปัชชุนนะเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา ตัวมอมมีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต ดังนั้นบุคลิกของมอม จึงดูเหมือนจะน่ากลัวแต่บางครั้งก็ดูขี้เล่น แต่สล่าหรือช่างปั้นบางท่านก็ปั้นมอม ดูคล้ายตุ๊กแก บางกิริยากระเดียดไปทางค่างก็มี...

...ล้านนามีวัฒนธรรม ทั้งฮินดู พุทธ ที่กล่าวถึง ป่าหิมพานต์ เชิงเขาพระสุเมรุ ที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล มีสัตว์ลูกครึ่ง คนกับเทพ คนกับสัตว์ สัตว์กับเทวดา สัตว์กับสัตว์ เช่น กินรี เงือก คนครึ่งม้า ตัวมอม คนมีคาถาอาคม เช่น คนธรรพ นักสิทธิ์ ทั้งหมดมีฤทธิ์ เหนือมนุษย์ แต่อยู่ในสวรรค์ไม่ได้ จึงมีการแสดงเป็น ปฎิมากรรมเฝ้าศาสนสถาน ทั้งเหราคาบนาคห้าหัว มีความหมายทางนามธรรมถึงอุปาทาน คือความยึดติด ในสิ่งที่คิดว่าเป็นเรา ไม่ว่าร่างกาย ความรู้สึก ความรู้ความจำ ความคิดที่ปรุงแต่งทั้งจินตนาการและเหตุผลหากยึดโดยขาดสติดูเราก็ทุกข์ การปั้นได้ความรู้มาจากช่างจีน จึงมีลีลาของจีนผสม กลายเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา ฉะนั้นคนเก่งอาจไม่มีความสุขคือไม่อาจอยู่ในสวรรค์ ได้แค่โชว์อยู่ตามประตูสวรรค์

คือสัตว์ในนิยายทั้งของล้านนาและทางอีสาน ในพจนานุกรมล้านนา – ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความหมายของมอมไว้ว่า “รูปสัตว์ครึ่งลิงครึ่งเสือ มีแขนยาว ตัวดำ บางท่านว่าคล้ายสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง บางแห่งแปลว่าเสือดำ...”


ส่วนใหญ่แล้ว มอม น่าจะครึ่งสิงห์ครึ่งลิงมากกว่า เพราะมอมมักจะพบว่ากล่าวคู่กันกับสิงห์อยู่บ่อยครั้ง ดังโคลงท้าวฮุ่งขนเจืองว่าไว้ดังนี้


“...แต่นั้นท้าวคาดผ้า .....ผืนดาย ดอกเครือ
ของแพงมวลแม่เมือง..... ประสงค์ให้
ลายเจือเกี้ยวสิงห์ ‘มอม’..... เมียงม่าน
ทรงอยู่เค้าดูเข้ม .........ทบเหลียว...”

"มอม" เป็นสัตว์ที่มีอำนาจมาก ดังจะเห็นได้ตามลายสักตามตัว ทั้งไทยวน ไทดำ ผู้ไทย ที่เรียกว่า ลายมอม ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์มากนั้น ทำให้มอมหยิ่งลำพอง จึงไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงเพื่อก้าวล่วงสู่สวรรค์ชั้นฟ้า จึงได้มาเฝ้าอยู่ตามโบสถ์วิหาร หรือตามประตูเท่านั้น

ลวดลายปูนปั้น รูปมอม สล่าผู้สร้างมักจะออกแบบตามจินตนาการของตัวเอง มอมบางตัวมีลักษณะคล้ายกับลิง บางตัวมองดูก็คล้ายแมว บางตัวก็ดูองอาจ ผึ่งผายราวสีหราช แต่บางตัวอาจมองคล้ายกับกิ้งก่าหรือตุ๊กแกไปก็มี มอมที่ปั้นเต็มตัวประดับตามบันได เช่นที่วัดบุพพาราม วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดป่าดาราภิรมย์ เป็นต้น

และที่สำคัญ ประดับเป็นลวดลายปูนปั้นประดับที่หอไตรวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่นี้จะมีกรอบปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น มอม กิเลน สิงห์ เงือก ช้าง ฯลฯ ทั้งที่เป็นสัตว์หิมพานต์ และสัตว์ทั่ว ๆ ไป กรอบนี้อยู่ล่างฐานเทวดายืนที่รายรอบหอไตร ในนั้นจะมีกรอบที่เป็น รูปมอมอยู่ ๖ กรอบ หลากหลายอิริยาบทบางกรอบทำเป็นเหมือนมองจากด้านบน บางกรอบเป็นรูปมอมจับงู บางกรอบเป็นมอม ๒ ตัวไล่จับกัน

เมื่อมองเลยกรอบรูปสัตว์ขึ้นไปจะเห็นเป็นเทวดายืนเรียงรายกันอยู่ ซึ่งทางด้านทิศตะวันตก จะเป็นรูปเทวดายืนอยู่บนหลังมอม ทำท่าตริภังค์ คือเอี้ยวสะโพก ซึ่งคาดว่าเทวดาองค์นี้ น่าจะเป็นปัชชุนนเทวบุตร ที่ประจำอยู่ทิศตะวันตก และมีมอมเป็นสัตว์พาหนะ

...มอม... เป็นสัตว์พาหนะของปัชชุนนเทวบุตร เทพแห่งฝน จึงใช้มอม ในการขอฝนต่อปัชชุนนเทวบุตร โดยการ “แห่มอม”

การ แห่มอม มักจะทำในช่วงเข้าฝนต้นฤดูทำนา ราวเดือน ๘, ๙ หรือ ๑๐ เหนือ หากยามนั้นฝนยังไม่มา ก็ไม่สามารถที่จะไถนาหว่านกล้าได้ จึงต้องทำพิธีขอฝน การ แห่มอม ก็ทำง่าย ๆ
คือ นำมอมไม้แกะสลัก มาใส่ไว้ในชองอ้อย หรือกระบะที่บรรจุเครื่องไทยทานต่าง ๆ ก็จะนำมอมไปแห่ไปตามหมู่บ้านด้วยความครื้นเครง เสียงกลองเสียงฆ้องดังเป็นจังหวะสนุกสนาน เมื่อไปถึงบ้านได ก็จะนำน้ำมาพรมใส่มอมไม้ในชองอ้อยนั้น พร้อมกับรดน้ำผู้ร่วมขบวนแห่ไปด้วย คล้ายกับเป็นการฝากสาร ฝากฎีกาความทุกข์อยาก ไปกับมอมเพื่อส่งไปยังปัชชุนนเทวบุตร แล้วจะได้ประทานฝนลงมาให้ชุ่มชื่น

...ต่อมา... มอมไม้ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกกว้านซื้อไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ หรือคอลเลคชั่นตามบ้านผู้มีเงินหนา กอปรกับฝีมือช่างการทำมอมก็หายไปด้วย ทำให้ไม่มีมอมไม้มาแห่ จึงนำ ...แมว... มาแห่แทน ...มอม...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น