วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นที่ อัศจรรย์เจดีย์ “ไจก์ทีโย” (พระธาตุอินทร์แขวน)

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjohete0OpHakdxL7ny1DA8wafSVA6abEv91vWVvACPStJ-1U45qKXhcUwFxjDgQOPgisS3T57f2GCPyiCwAvR-8OY3DQkVU5cFVZOObKSNIWFnlaq5TMGZ_W1FQsRKvexw5fi0htcSJ2Xc/s1600/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%99.jpg

ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นที่ อัศจรรย์เจดีย์ “ไจก์ทีโย” (พระธาตุอินทร์แขวน) เมืองสะเทิม รัฐมอญ ประเทศพม่า 

โดย เนาว์ นรญาณ

กล่าวนำ

หลังจากที่ได้เคยพาทุกๆท่านไปกราบไปไหว้ไปสาพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง พระเจดีย์ทองคำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด อันเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุแห่งองค์ สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 8 เส้น พร้อมด้วยพุทธบริขารของอดีตพระพุทธเจ้าอีกถึง 3 พระองค์ จนเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจมาพอสมควรแล้ว บัดนี้ ก็ถึงเวลาจาริกแสวงบุญไปกราบไหว้พระเจดีย์ที่สำคัญอย่างมากๆถึงมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในประเทศพม่าแห่งต่อไป

และการจาริกไปกราบไหว้สาพระเจดีย์องค์ใหม่นี้ ก็น่าที่จะเป็นที่ถูกอกถูกใจและปลื้มปีติใจแก่หลายๆคนที่เกิด “ปีจอ” หรือต้องการได้รับ “สิริมงคล”พิเศษรับปีจอ ซึ่งเพิ่งจากเปลี่ยนศักราชใหม่เมื่อวันมหาสงกรานต์ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆนี้เอง

เหตุที่เป็นเยี่ยงนั้น ก็เพราะพุทธสถานแห่งที่จะได้เล่าถึงต่อไปนี้ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “ปี”และ “ชะตา”ของบุคคลจำนวนไม่น้อยใน “กาละ”และ “เทศะ” เวลาปัจจุบันบัดเดี๋ยวนี้..??????

นั่นก็คือ เรื่องของพระเจดีย์ “ไจก์ทีโย” หรือที่หลายๆท่านรู้จักมักคุ้นจนเจนตาเจนใจเป็นอย่างดีในหนังสืออมตะอันสุดแสนจะละเมียดละไมและโรแมนติกแบบสุดๆเรื่อง “เจ้าจันทร์ผมหอม”ในชื่อ “พระธาตุอินทร์แขวน” อันประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสูง เมืองสะเทิม รัฐมอญ ประเทศพม่านั่นแล...............
เพราะพระเจดีย์ไจก์ทีโย พรือพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เป็นพระเจดีย์ประจำปี “เส็ด” หรือปี “จอ” ตามคตินิยมแห่งล้านนาไทยเรานี่เอง...!!!!!!!!!!!!
เริ่มเห็นความ “สำคัญ”สูงสุดที่เกี่ยวข้องนี้แล้วใช่หรือไม่??????


http://s.img.kapook.com/photo/112/kapook_world-110978.jpg

ตามประเพณีจารีตของล้านนาโบราณ ได้กำหนดไว้ว่า คนที่เกิดในปีใด ควรจะได้ไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเป็นการเสริมสร้างสิริมงคล เสริมดวงชะตาราศีให้เจริญรุ่งเรือง และยังเป็นการสร้างสมบุญกุศลอย่างสูงอีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.คนเกิดปี “ไจ้”ชวด(หนู) ไหว้พระธาตุจอมทอง เชียงใหม่
2.คนเกิดปี “เป้า”ฉลู (วัว) ไหว้พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
3.คนเกิดปี “ยี”ขาล(เสือ) ไหว้พระธาตุช่อแฮ แพร่
4.คนเกิดปี “เม้า”เถาะ (กระต่าย) ไหว้พระธาตุแช่แห้ง น่าน
5.คนเกิด “สี” มะโรง(งูใหญ่) ไหว้พระพุทธสิหิงค์ หรือพระธาตุวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
6.คนเกิดปี “ไส้” มะเส็ง(งูเล็ก) ไหว้พระเจดีย์พุทธคยาหรือไม้พระศรีมหาโพธิ์ อินเดีย
7.คนเกิด “สะง้า” มะเมีย (ม้า) ไหว้พระเจดีย์ชเวดากอง ย่างกุ้ง พม่า
8.คนเกิดปี “เม็ด” มะแม (แพะ) ไหว้พระธาตุดอยสุเทพส เชียงใหม่
9.คนเกิดปี “สัน” วอก (ลิง) ไหว้พระธาตุพนม นครพนม
10.คนเกิดปี “เล้า”ระกา (ไก่) ไหว้พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
11.คนเกิดปี “เส็ด” จอ (สุนัข) ไหว้พระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือพระธาตุอินทร์แขวน พม่า
12คนเกิดปี “ไก้” กุน(หมู) ไหว้พระธาตุดอยตุง เชียงราย

พระเจดีย์ไจก์ทีโย(พระธาตุอินทร์แขวน)  พระมหาเจดีย์จุฬามณีบนโลกมนุษย์


http://board.postjung.com/data/635/635335-topic-ix-10.jpg

ก็ในเมื่อโบราณาจารย์ท่านกำหนดให้ถือว่า “พระเจดีย์จุฬามณี” ซึ่งตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า องค์พระอมรินทราธิราช หรือ “พระอินทร์” ผู้เป็นจอมเทวะได้สร้างขึ้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสพิภพ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเมาลีและพระเขี้ยวแก้วขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีจอแล้ว ก็คงเป็นสิ่ง “เกินวิสัย”ของสามัญชนผู้ไม่ได้ “อิทธิวิสัย” ที่จะ “ถอดจิต”หรือ “เดินญาณ”ด้วยอำนาจฌาณสมาบัติขั้นไปกราบนมัสการเป็นสิริมงคลแก่ตนเองได้ จึงได้มีการสมมุติให้ถือเอา “พระธาตุอินทร์แขวน” ซึ่งตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า เป็นพระเจดีย์ที่พระอินทร์ได้ทรงสร้างไว้เหมือนกันกับพระเจดีย์จุฬามณี ก่อให้เกิดความยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปว่า พระเจดีย์ไจก์ทีโยหรือพระธาตุอินทร์แขวนนี้ คือพระเจดีย์จุฬามณีบนโลกมนุษย์ อันควรค่าแก่การไหว้สาสักการะเป็นยิ่งนัก

อันพระเจดีย์ไจก์ทีโย หรือพระธาตุอินทร์แขวนองค์นี้ เดิมทีมีชื่อมอญเรียกว่า “ไจกิทิโย” อันมีความหมายว่า “พระเจดีย์เศียรฤาษี” เหตุด้วย มีพระฤาษีตนหนึ่ง ชื่อว่า “ติสสะ” ได้รับพระทานพระเกศาธาตุจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีคราวเสด็จจาริกมาโปรดสรรพสัตว์ในเขตสุวรรณภูมิแห่งนี้ โดยพระฤาษีตนนั้นได้เก็บพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในมวยผมตนเอง ต่อมาเมื่อพระฤาษีชราภาพมาก และเห็นว่าอีกไม่ช้า ตนก็คงต้องละสังขารแล้ว ก็ใคร่จะหาที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุที่เหมาะสม เพื่อจะได้เป็นที่ไหว้สาสักการะของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายสืบไป การดังนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงพระอินทราธิราช พระองค์ได้เสด็จลงมาอาสาที่จะสร้างพระเจดีย์ถวาย แต่พระฤาษีติสสะก็มีข้อแม้ว่า พระอินทร์จะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะรูปทรงสัณฐานเหมือนกับศีรษะของพระฤาษีให้ได้เสียก่อน ซึ่งพระอินทร์ก็ได้ใช้เทวฤทธิ์ ยกเอาหินก้อนหนึ่งมาจากใต้ทะเลลึก มีลักษณะถูกต้องตามความต้องการของติสสะฤาษีตนนั้นทุกประการ ติสสะฤาษีก็พอใจยินยอมอัญเชิญพระเกศาธาตุมาให้กับพระยาอินทราธิราช ๆก็ใช้พระขรรค์แทงลงในหินก้อนนั้นเป็นช่องว่าง พร้อมกับอัญเชิญพระเกศาธาตุลงบรรจุ ก่อนนำไปแขวนไว้ที่ยอดเขา Puang Luang ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เมืองสะเทิม รัฐมอญ ประเทศพม่า (อยู่ใกล้เคียงในเส้นรุ้งเดียวกับอ.ท่าสองยาง จ.ตาก ประเทศไทย) พระธาตุเจดีย์องค์นี้ จึงได้ชื่อว่า “ไจกิติโย” หรือภายหลังกร่อนคำลงเหลือ “ไจก์ทีโย” อันแปลตรงตัวได้ความว่า “พระเจดีย์เศียรฤาษี” แต่คนไทยนิยมเรียกว่า “พระธาตุอินทร์แขวน” ซึ่งแม้แต่คนพม่าเอง ก็ยังชมเชยว่า คนไทยเรียกชื่อพระธาตุองค์นี้ได้ “ตรงเป้า”มากที่สุดเลยทีเดียว


http://www.siamdara.com/Picture_Entertain/1301254466180.jpg


สำหรับอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเจดีย์ “ไจก์ทีโย”หรือ “พระธาตุอินทร์แขวน” ซึ่งพระอินทร์เป็นผู้สร้างนั้น แน่นอนว่า จะต้องมีพุทธานุภาพแห่ง “พระเกศาธาตุ” และ “เทวานุภาพ”ของพระอินทร์แฝงไว้อย่างท่วมท้นไม่ต้องสงสัย  หนึ่งก็เป็นเล่าลือกันมาแต่โบราณแล้วว่า แต่ก่อนนั้น พระธาตุอินทร์แขวนไจก์ทีโยนี้ “แขวน”หรือ “ลอย”อยู่เหนือพื้นหินภูเขาจริงๆ โดยลอยสูงจากพื้นประมาณ แม่ไก่ลอดเข้าไปกกไข่ได้ แต่ต่อมา เมื่อจิตใจของมนุษย์ในโลกตกต่ำลง ประกอบกับมี “เจ้าหญิงพม่า(โบราณ)” องค์หนึ่ง คิดจะเรียกร้อง “สิทธิสตรี”ว่าต้องเสมอเทียมเท่ากับผู้ชาย (ประมาณเดียวแบบเดียวกับคุณเธอ “ระเบียบจัด”ของสยามประเทศ อย่างไรก็อย่างนั้น) เลยก้าวล่วงเข้าไปในเขตหวงห้ามที่ห้ามสตรีเข้าไปอย่างเด็ดขาดที่พระธาตุอินทร์แขวน จึงเกิดอาเพศร้ายแรง ทำให้องค์พระธาตุลอยต่ำลงมาจนชิดกับพื้นหินยอดเขาแบบเหลื่อมล้ำหมิ่นเหม่ชวนให้หวาดเสียวว่าจะหล่นมิหล่นแหล่เต็มที แต่องค์พระเจดีย์ไจก์ทีโยก็ยังตั้งอยู่ได้เป็นอัศจรรย์ ด้วยความสูงที่เอาด้ายเส้นยาวๆลอดได้ หรือสามารถช่วยกันโยกให้องค์พระธาตุเอียงไปเอียงมาได้ แต่ก็ไม่เคยหลุดหล่นไปจากที่ แม้จะผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างแรงมานับครั้งไม่ถ้วน แต่พระธาตุไจก์ทีโยอินทร์แขวนก็ยังคงตั้งตะหง่านงาม ท้าทายต่อทุกสายตาของทุกผู้คนทั่วโลกให้เป็นที่อัศจรรย์แก่ตาแก่ใจมาตราบเท่าถึงวินาทีนี้




อนึ่ง จากหนังสือนวนิยายซีไรท์อันโด่งดังอย่าง “เจ้าจันทน์ผมหอม” ของ “มาลา คำจันทร์” ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก “พระธาตุอินทร์แขวนไจก์ทีโย” ก็ได้บันทึกไว้เลยทีเดียวว่า

“ชื่อพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของคนเฒ่าคนแก่แถบ ลำปาง พะเยา เชียงราย ตำนานพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเป็นพระธาตุที่พระอินทร์ เจ้าฟ้าตาวติงสาโลกลงมาแขวนไว้ในเมืองคนนี้ ผู้เขียน(มาลา คำจันทร์) เคยได้รับฟังจากย่าผู้ล่วงลับเล่าว่า อยู่ไกลสุดแสนที่แดนฟ้าหลั่ง ใครได้ไหว้พระธาตุอินทร์แขวน ก็เท่ากับได้ไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ มีสิทธิ์สะสมผลานิสงส์ไปเกิดร่วมยุคกับพระศรีอาริยเมตตรัย”“.......เจ้าจันทร์แก้วยื่นฟ้า เจ้างามหล้าลือโลกโศกหมอง พระธาตุอินทร์แขวนหมายแทนเอาเป๋นพระธาตุประจำปีเกิด วาดไว้ว่าสูงเลิศส่งลอยทะลุอกฟ้า " (เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน หน้า105")

ตามรอย “เจ้าจันทร์ผมหอม” พบเหตุอัศจรรย์เจดีย์ “ไจก์ทีโย”แต่แม้ผู้เขียนจะไม่ได้เป็นคนเกิดปีจอ ซึ่งมีพระธาตุอินทร์แขวนเป็นพระธาตุประจำปีเกิด และไม่ได้หวังจะไปพระธาตุอินทร์แขวนเพื่อเอาเส้นผมไปลอดเสี่ยงทายแบบเจ้าจันทร์ผมหอมอย่างที่ว่าก็ตาม แต่ด้วยความเป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือพรพุทธองค์ เป็นสรณะหลักอย่างเหนียวแน่น พร้อมกับคิดด้วยว่า ปีนี้เป็น “ปีจอ” แล้ว หากเราไปไหว้ไปสาพระธาตุอินทร์แขวนไจก์ทีโย ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีจอ ก็น่าที่จะทำให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลตลอดปีจอนี้ด้วยเช่นกัน.


http://www.bloggang.com/data/ampols/picture/1288164155.jpg

เส้นทางสู่...พระธาตุอินทร์แขวน

เส้นทางสู่...พระธาตุอินทร์แขวน : พระธาตุอินทร์แขวน อยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ 180 กิโลเมตร โดยนั่งรถผ่านเมืองหงสาวดีมาสู่ คิมปูนแค้มป์ (เชิงเขาไจ้เที่ยว ระยะทาง 170 กิโลเมตร) ใช้เวลา 4 - 5 ชั่วโมง จากนั้นก็นั่งรถบรรทุกหกล้อเดินทางสู่จุดเดินเท้า (ระยะทาง 8 กิโลเมตร) ใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมง

จุดเดินเท้าหรือจุดที่นั่งเสลี่ยง ค่านั่งเสลี่ยงก็ประมาณ 700-800.-บาท ปัญหาของการนั่งเสลี่ยงก็มีบ่อยครับ คือว่าระหว่างทางที่นั่งเสลี่ยง คนหามก็พยายามให้เราซื้อโค้กให้ โดยบอกว่าหิวน้ำบ้าง ถ้าเราไม่ซื้อก็แกล้งเดินแบบเหวี่ยงๆให้หวาดเสียวหน่อย แต่พอเราซื้อให้ก็ต้องซื้อให้ทั้ง 4 คน ราคาประมาณกระป๋องละ 50 บาท แล้วเขาก็จะเอามาแลกคืนที่ร้านค้าที่เขาซื้อนั่นแหละ พอขึ้นไปถึงข้างบนก็จะขอทิปอีก ถ้าไม่ให้ก็ไม่ยอมไป แบบว่าต้องเอาให้ได้ แต่พอทางหัวหน้าทัวร์ไปถามเรื่องซื้อน้ำหรือเรื่องทิป เขากลับโกหกว่าลูกค้าซื้อให้เขาเอง ลูกค้าให้ทิปเขาเอง เขาไม่ได้เรียกร้อง พอขากลับเขาก็จะขอทิปเราอีกครั้งเหมือนเดิม.... สำหรับเรื่องนี้ก็ต้องทำใจ "กลัวไปทำบุญแล้วได้บาปในใจกลับมาครับ"...

เส้นทางเดินเท้าสู่พระธาตุอินทร์แขวน ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 ชั่วโมงครับ หากว่านั่งเสลี่ยง ก็ใช้เวลาประมาณ 40 นาที เส้นทางเดินเท้าสู่พระธาตุอินทร์แขวน เป็นถนนแบบคอนกรีต เดินแบบสบาย แต่ชันสักหน่อย มีที่หยุดพักตลอดเส้นทาง สองข้างทางก็จะผ่านบ้านชาวบ้านและช่วงสุดท้ายก็จะเดินตามถนนก็ได้หรือเลือกเดินทางลัดก็ได้ โดยผ่านบ้านชาวบ้าน ระยะทางประมาณ 200 เมตรครับ

สำหรับที่พักบนพระธาตุอินทร์แขวน มีโรงแรมอยู่ 2 ที่ครับ ก็อย่างในรูป เป็นโรงแรมของรัฐบาลทั้งหมด ห้องพักแบบธรรมดา มีพัดลมกับน้ำอุ่นเท่านั้นครับ

... เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินแขวน (สุนทรี เวชานนท์ และ มาลา คำจันทร์)


http://www.seawritethailand.com/UserFiles/image/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9C%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1.jpg

... เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินแขวน (สุนทรี เวชานนท์ และ มาลา คำจันทร์)
โดย วิหคพลัดถิ่น

วันนี้หยิบเพลง "เจ้าจันทร์ผมหอม" ซึ่งขับร้องโดยคุณสุนทรี เวชานนท์ มาเล่าเรื่องราวแห่งเพลงให้ได้ติดตามอ่านกันนะคะ ตั้งใจไว้จะทำนานแล้ว แต่เนื่องจากการหาข้อมูล ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นสักที จึงต้องล่าช้าออกไป .... และประกอบกับมีเพลงด่วนส่งมาแนะนำให้ได้ฟังกันก่อน จึงจำต้องหยิบมาคั่นตำนานเจ้าหญิงพระองค์นี้

"เจ้าจันท์ผมหอม" เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการค้นหาสัจจะ หรือความจริงอันเป็นแก่นสารของชีวิตซึ่งจะเกิดขึ้นกับใครที่ใดก็ได้ ในช่วงเวลาที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากการเขียนโดยกวีแก้ว แห่งเมืองล้านนา "มาลา คำจันทร์"

มาลา คำจันทร์เสนอนิยายเรื่องนี้ โดยเล่าเรื่องการเดินทางไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนของตัวเอก คือเจ้าจันท์ ผู้มีความรู้สึกและความปรารถนาที่ขัดแย้งกันอยู่ในใจตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เจ้าจันท์จึงประจักษ์ถึงสัจธรรมของชีวิต เห็นความแตกต่างระหว่างความจริงแท้กับภาพมายา ก่อนการตัดสินใจครั้งสุดท้าย


เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน


จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ อยู่ที่การที่ผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องด้วยกลการประพันธ์หลากหลาย เช่นการประยุกต์ขนบวรรณกรรมทั้งเก่าและใหม่ได้อย่างผสานกลมกลืน การดำเนินเรื่องโดยใช้ขนบของนิราศและวรรณคดีเก่าของล้านนามาสานสอดเหตุการณ์ในเนื้อเรื่อง การกำหนดเวลาของเนื้อเรื่องให้จบสิ้นภายใน ๑ วัน แต่สามารถย้อนเล่าเหตุการในอดีตและปัจจุบันสลับกันไปผ่านกระแสสำนึกของตัวเอก และการสร้างปมปัญหาที่ค่อยๆ ทวีขึ้นตามลำดับจนถึงที่สุดแล้วคลี่คลายอย่างแยบยล

ได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของนวนิยายเรื่องนี้กันโดยย่อ ๆ แล้ว ก็จะขอย่อลงมาอีก สำหรับเนื้อเรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้ ตำนานของเจ้าหญิงผมหอมแห่งเมืองเหนือ เรื่องเจ้าจันทร์ผมหอม ผู้ที่ไม่ใช่คนเหนือ ไม่รู้จักภาษาถิ่น อาจจะอ่านยากสักหน่อย แต่ก็มีคำแปลศัพท์ให้ ซึ่งก็ไม่ยากเกินไป เรื่องนี้เล่ากันว่าภาษาสวยมาก

เป็นเรื่องของเจ้าหญิงเมืองเหนือองค์หนึ่ง ผู้ผูกพันธ์รักใคร่กับเจ้าหล้าอินทะ แต่เจ้าพ่อกับเจ้าแม่ของเจ้าจันทร์ ได้ตกลงยกเจ้าจันทร์ให้กับพ่อเลี้ยงผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง ตอนเป็นเด็ก เจ้าจันทร์เกิดล้มป่วยเจ้าพ่อเจ้าแม่จึงได้บนกับพระธาตุไว้ และจะไว้ผมยาวถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา เจ้าจันทร์เลี้ยงผมมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งผมของนางมีกลิ่นหอมเป็นที่ตรึ่งใจแก่ผู้ที่ได้เข้าใกล้ชิด


http://i271.photobucket.com/albums/jj152/SweetNeem/K3537206-4.jpg

เมื่อถึงกำหนดที่เจ้าจันทร์ต้องเดินทางไปแก้บนที่พระธาตุอินทร์แขวน และจำต้องเดินทางไปสักการะพระธาตุ โดยอาศัยเดินทางไปกับพ่อเลี้ยง ไม่เช่นนั้น ก็จะเดินทางไม่ได้ เพราะต้องใช้ทั้งขบวนช้างม้า เดินทางกันเป็นเวลานาน ซึ่งต้องอาศัยกำลังทรัพย์จากพ่อเลี้ยง และในระหว่างการเดินทาง พ่อเลี้ยงนั้นก็ดูแลเจ้าจันทร์เป็นอย่างดี หวังจะเอาชนะใจเจ้าจันทร์ แต่เจ้าจันทร์ก็ไม่สามารถทำใจให้รัก พ่อเลี้ยงได้ เพราะเธอรักมั่นอยู่กับอีกชายหนึ่งแล้ว ในเรื่องจะมีบทค่าวพรรณาความในใจ ความทุกข์ยากลำบากจากการเดินทาง การพลัดพรากจากคนที่รัก ระหว่างความรักกับหน้าที่ที่จะต้องประคับประคองความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง ซึ่งต้องอาศัยพ่อเลี้ยง

ในที่สุดเจ้าจันทร์ได้ตั้งจิตบนพระธาตุอีกครั้งหนึ่งว่า หากผมหอมนี้ปูลอดพระธาตุได้ นางจะกลับไปหาชายคนรัก หากปูลอดพระธาตุไม่ได้ นางจะแต่งกับพ่อเลี้ยง สุดท้ายเมื่อผมลอดไม่ได้เจ้าจันทร์จึงได้ปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุนั้นและตัดสินใจแต่งงานกับชายที่ไม่ได้หมายปอง คุณสมบัติพิเศษของนวนิยายเรื่องนี้ คืออลังการของภาษาซึ่งมีกลิ่นอายของล้านนา และอุดมด้วยจินตภาพอันวิจิตร และ ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวข้างต้น "เจ้าจันท์ผมหอมฯ" จึงเป็นนวนิยายที่มีความดีเด่น และได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๔


ตามความเชื่อของชาวล้านนา เชื่อว่าคนที่เกิดแต่ละราศีควรจะต้องไปไหวพระธาตุประจำราศีเกิด ซึ่งทั้ง 11 ราศีก็มีพระธาตุประจำราศีอยู่บนโลกทั้งนั้น ยกเว้นปีจอที่ต้องไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ แล้วผมจะได้ไปไหว้ตอนไหนล่ะ สงสัยตายก่อน แล้วอย่างเราตายไปก็มีแต่ลงนรก เมื่อเนื้อหาของเรื่อง ต้องเกี่ยวข้องกับ พระธาตุอินแขวน ก็ได้นั่งสืบค้นหาตำนานและประวัติของพระธาตุองค์นี้มาให้ได้อ่านประดับความรู้เผื่อใครอยากจะไปท่องเที่ยวกันบ้างนะคะ


http://www.kwanjaitravel.com/web/images/stories/travel/10.jpg


ตำนานพระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย (Kyaikhtiyo)

พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย (Kyaikhtiyo) ในภาษามอญ หมายความว่า หินรูปหัวฤๅษี พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า บนยอดเขา Paung Laung เหนือระดับ น้ำทะเล 3,615 ฟุต

ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวนคือ มีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลกโดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ พระธาตุอินทร์แขวนนับเป็น1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าต้องไปสักการะ และยังเป็นพระธาตุประจำปีจอ (สุนัข) ที่คนเกิดปีนี้ต้องไปนมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิต

มีตำนานกล่าวไว้ว่า [ตำนานจากที่ไหนไม่ปรากฏ เป็นคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา] มีฤาษีติสสะผู้หนึ่งได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าที่ได้มอบให้ไว้เป็นตัวแทนพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ แต่ว่าฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม พอเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขาร โดยมีความตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของตน

จึงให้พระอินทร์ช่วยหาก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนกับศีรษะ ซึ่งได้มาจากใต้ท้องมหาสมุทร และก็ให้พระอินทร์นำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน จึงเป็นที่มาของชื่อ "พระธาตุอินทร์แขวน" แต่ชาวพม่าและชาวมอญจะเรียกพระธาตุอินทร์แขวนว่า "ไจก์ทิโย" ซึ่งเป็นภาษามอญ หมายถึง เจดีย์บนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะฤๅษี จะขออนุญาตินำความตอนหนึ่งจากหนังสือ "เจ้าจันทร์ผมหอม" มาให้ได้ลองอ่านกันดูภาษาสละสลวยที่นักเขียนผู้นี้ได้ประดิษฐ์แต่งคำขึ้นมาอย่างงดงามมากค่ะ


......."เจ้าจันทร์แก้วยื่นฟ้า เจ้างามหล้าลือโลกโศกหมอง
พระธาตุอินทร์แขวนหมายแทนเอาเป๋นพระธาตุประจำปีเกิด
วาดไว้ว่าสูงเลิศส่งลอยทะลุอกฟ้า
มาเห็นกับตา พระธาตุแก้วหล้าเก่าหมองเป็นแต่ก้อนหินหัวล้าน
คราบไคลแลตะใคร่เกาะกินจนเนื้อหินแปดเปื้อน
องค์พระธาตุก็เล็กน้อยนัก
บ่สมฝีมือพระอินทร์เจ้าฟ้าก่อเสริมอยู่เหนือหินสูงสักสองสามวาเท่านั้น
อิฐปูนกระเทาะแตก ยอดฉัตรปลายแฉกก็เศร้าหมอง
บ่เหมือนดั่งทองต้องแดดตามที่ได้เห็น
ช่อธงหักเหี้ยน กาฝากและรากไม้ก็เจาะไชจนฐานพระธาตุปริร้าว..."

( " เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน หน้า105")



http://www.yimwhan.com/board/data_user/pinit/photo/cate_1/45.jpg


...เพลง "เจ้าจันทร์ผมหอม" - สุนทรี เวชานนท์...


ก่อยฟังเนอ หมู่จุมปี้น้อง
จักไขทำนองเรื่องเจ้าคนงาม
ได้ฮักได้ฮ้าง ทุกโศรกติดต๋าม
เจ้าจันร์คนงามเลี้ยงผมยาววา


ผมหอมเจ้านั้น หอมงามหนักหนา
จักตัดปูจา อินแขวนธาติเจ้า
ขอผาถนา อินผาท่านเจ้า
มาเป๋นเก๊าเหง้า ปกห่มหัวนาง

หื้อรอดหื้อป้น ตางฮ้ายขัดขวาง
รอดแล้วเจ้านาง จักสมปี้อ้าย
หากรอดบ่ผด จักลาตายพราย
ลาจากเจ้าชาย ขึ้นฟ้าเมืองบน


เจ้าก็ขึ้นจ๊าง เที่ยวหว่างไพรสน
ระเหเววน ข่มหมองใจ๋ไหม้
กอบปลายผมงาม ซ้ำวางอกไหว้
ขออินทร์เทพไท้หันใจ๋เต๊อะนา.


ขอปารมี บุญดีฮักษา
หื้อป้นพารา อาธรรมบาปใบ้
แต่บุญบ่สม ผมลอดบ่ได้
เจ้าดวงดอกไม้เหมือนต๋ายวางลง ........แล....เฮย........



http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/756/351/large_aaa.jpg?1315947155

มาลา คำจันทร์

เกี่ยวกับผู้เขียน มาลา คำจันทร์ มาลา คำจันทร์เป็นนามปากกาของ เจริญ มาลาโรจน์ เกิดปี ๒๔๙๕ จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ และรับราชการเป็นครู ๑๑ ปี และได้จบปริญญาตรีคณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโท วิชาจารึกภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

เคยเป็นอาจารย์ภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ ผลงาน ทางที่ต้องเดิน หมู่บ้านอาบจันทร์ เด็กบ้านดอย ไอ้ค่อม ลูกป่า นกแอ่นฟ้า วิถีคนกล้า บ้านไร่ชายดง ลมเหนือและป่าหนาว ท้าสู้บนภูสูง เขี้ยวเสือไฟ หุบเขากินคน เมืองลับแล เรื่องเล่าจากดงลึก ดาบอุปราช ใต้หล้าฟ้าหลั่ง ฟ้ากว้างเท่าปากบ่อ ไฟพรางเทียน แพะขาวแพะดำ สร้อยสุคันธา

เรื่องเจ้าจันท์ผมหอมนี้ เขียนจากจินตนาการของผู้เขียนเอง โดยไม่ใช่นำมาจากนิทานพื้นบ้านแต่อย่างใด ผู้เขียนบอกในคำนำว่าอยากลองเขียนถึงผู้หญิงในประวัติศาสตร์ ว่าจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เพราะบันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกสิ่งเหล่านี้เอาไว้ ....

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

[บทความ] 10 สุดยอด สถานที่ท่องเที่ยว กัมพูชา


 File:Buddhist monks in front of the Angkor Wat.jpg

10 สุดยอด สถานที่ท่องเที่ยว กัมพูชา



1. Angkor Wat : มหาปราสาทนครวัด

หหาประสาทนครวัดสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในประเทศกัมพูชา ที่มีชื่อเสียงเกรียงไกร ดึงดูด ชาวต่างชาติ หลายหลายภาษาและวัฒนธรรมเข้ามาท่องเที่ยวและทำความรู้จักกับประเทศกัมพูชา ตามประวัติแล้ว ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นศาสนสถานอุทิศถวายพระวิษณุ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และ สิ่งที่สร้างชื่อให้แก่ปราสาทแห่งนี้ ก็คือ ความยิ่งใหญ่ ของตัวปราสาท ที่เริ่มตั้งแต่สะพานนาคและ คูน้ำรอบรอบตัวปราสาท องค์ปราง 5 ยอด และ ระเบียง คต ภายในตัวปราสาท ที่รอบ ๆ ผนังของระเบียงคตจะ ถูกแกะสลักรูปนางอัปสรา มากกว่า 1000 องค์ โดยที่แต่ละองค์ จะมีเครื่องแต่งกายและ ทรงผม ไม่ซ้ำแบบกันเลย และ จะมีเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ยิ้มเห็นฟัน ถ้ามีโอกาศได้ไป ต้องลองหาดู ว่า นางอัปสราองค์นี้อยู่ตรงใหน 

ถัดเข้าไปดุด้านในอีกชั้น จะเป็น ผนังรอบปรางค์ประธานทั้ง 4 ด้าน ที่มีการแกะสลักเรื่องราว เกี่ยวกับศาสนาฮินดู และ การยกทัพสู้รบในอดีต โดยเฉพาะระเบียงคตตะวันออก ด้านทิศใต้ ที่แกะสลักเป็นเรื่องราวของการกวนเกษียรสมุทร และ ระเบีงคตทิศใต้ ด้านตะวันตก ที่แกะสลักเรื่องราวกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่สอง ที่แสดง ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของชนชาติขอมในสมัยนั้น และ ถ้าหากได้มีโอกาสขึ้นไป บนยอด ของปรางประธาน เราสามารถชมวิวเมืองนครวัด ในมุมสูง ที่สวยงามมาก


http://www.pragueangkor.com/sites/default/files/imagecache/Stranky-Obsah/pages/obsah/angkor-thom/angkor-thom-001.jpg

2. Angkor Thom : เมืองพระนครหลวง

เมืองพระนครหลวง นครธมที่ก่อตั้ง ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรขอม ก่อนที่จะค่อย ๆ ล่มสลาย ภายในของเมือง จะประกอบด้วยปราสาทน้อยใหญ่ หลายปราสาท ลานช้าง ลานพระเจ้าขี้เลื้อนแ ต่ไฮไลท์สำคัญ ของเมืองจะอยู่ที่ ปราสาทบายน ความอัศจรรย์ ของปราสาทแห่งนี้คือ ยอดของปราสาทที่สร้างเป็น พระพักตร์ ของพระอวโลกิเคศวร หันหน้า ออก4 ทิศ ทั้ง 54 ยอด รวมทั้งหมด 216 หน้า และ อย่าลืมแวะมาถ่ายรูปประตูเมืองพระนครทางทิศใต้ ที่เป็นอีก 1 จุด ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด


http://static2.asiaplacestosee.com/wp-content/uploads/2012/03/angkor_wat_temple_complex__ta_prohm.jpg

3. Ta Prohm : ปราสาทตาพรม

ปราสาทฮอลลีวู๊ด ที่เรียกปราสาทแห่งนี้ว่าปราสาทฮอลลีวู๊ด เพราะ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะรู้จัก ปราสาทแห่งนี้จากการชมภาพยนต์เรื่อง ทูมเรเดอร์ เมื่อหลายปีก่อน เนื่องจาก ด้วยความสวยงาม ของรากไม้ที่ปกคลุมเกาะเกี่ยวตัวปราสาทไม่ให้ พังทลายไปตามกาลเวลา


http://samsontuktukangkor.com/Data/Sites/1/banteay_srei_october_2006_008.jpg

4. Banteay Srei : ปราสาทบันทายสรี

เป็นปราสาทที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพูป็นเอกลักษณ์ไม่มีที่ใหนเหมือน ความพิเศษของปราสาทแห่งนี้คือ ลวดลายแกะสลักที่สวยงาม และ ละเอียดละออ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมหากาพย์รามเกียรติ์ ด้วยความดดดเด่นทางด้านศิลปะ และการแกะสลักที่สวยงาม ทำให้ปรสาทแห่งนี้ได้ชื่อว่ารัตนชาติของปราสาทขอม


http://farm3.staticflickr.com/2637/4026392226_fb405d196d_z.jpg

5. Suset at Phnom Bakheng : ชมพระอาทิตย์ อัสดงที่ภูเขาพนม บาเค็ง

ชมพระอาทิตย์ อัสดงที่ภูเขาพนม บาเค็ง หลังจากที่ได้ชมกลุ่มปราสาทต่าง ๆ ในเมืองเสียบเรียบกันแล้ว สถานที่สุดท้ายที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ เขาพนมบาเค็ง เราจะได้ออกแรงเดินขึ้นเขานิดหน่อย เพื่อชมพระอาทิตย์อัสดง พร้อมชมวิวเมืองเสียมเรียบ 360 องศา จากยอดปราสาท บาเค็งที่ตั้งอยู่บนภุเขาลูกนี้ แต่ถ้าหากใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศ ที่นี่เค้าก็มีบริการขึ้นเขาโดยช้างแทนการเดิน


http://static.panoramio.com/photos/large/48266878.jpg

6. Angkor National Museum : พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์

เป็นสถานที่ รวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของอารยธรรมขอม หลายยุค หลายสมัย แบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆๆ และ ที่นี่เค้ายังมีโชว์ หินชนิดต่าง ๆๆ ที่นำมาทำปราสาทหินอีกด้วย บบว่า เข้ามาดูที่นี่ก่อนแล้วค่อยไปชมปราสาทหินของจริง จะทำให้เข้าใจมากขึ้นด้วย


http://www.vietnamtourism-jsc.com/upload/images/country/Siemreap/tonle-sap-sunset(vietnamtourism-jsc_com).jpg

7. Tonle Sap : ทะเลสาบเขมร

ชาวเขรมรเรียกโตนเลสาบ เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 จังหวัด นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือเข้ามาชม วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโตนเลสาป เป็นเหมือน เมือง 1 เมือง มีโรงเรียน โบสถ์ บ้านเรือนประชาชน และ ภัตตาคารลอยน้ำต้นรับนักท่องเที่ยว และ ในทะเลสาบแห่งนี้ ยังมี เด็ก เล็ก ๆๆ ล่องกะลามังมาทักทายกับนักท่องเที่ยวด้วยค่ะ


http://www.asianescapes.com/sites/default/files/1272131300-siem-reap-Cambodia-Asia-Siem-Reap.jpg

8. Phnom Kulen : ภูเขาพนมกุเลน

แหล่งตัดหินใหญ่ที่นำมาทำปราสาทหินของชาวขอมโบราณ และแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของลำธารที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเสียมเรียบ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 โปรดให้แกะสลักหิน เป็นรูปศิวลึงค์ใต้น้ำนับพันองค์ เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านรุปสลักเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่ในปัจจุบันนี้ ชาวเขมรในเมืองเสียมราฐ นิยมพาครอบครัวมาปิ๊กนิก เล่นน้ำกันที่บริเวณน้ำตกพนมกุเลน


http://www.thebrightlotus1.com/images/phnom-penh.jpg

9. Phnom Penh : กรุงพนมเปญ

เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และ หน่วยงานราชการต่าง ๆ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมี วัดพระแก้ว และ พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ตูลสแลงเป็นคุกเก่าที่บอกเล่าเริ่งราวในยุคเขมรแดง, พซ่า เทมย หรือ Central Market ก็เป้นตลาดกลางของชาวเขมร และ ยังเป็น ท่ารถ ที่จะต่อรถไปยังเมือง เสียมเรียบ อีกด้วย


http://feelplop.com/cat/images/gmapfp/ec.sihanoukville1.jpg

10. Sihanouk Ville : สีหนุวิลล์

เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชา ที่มีชื่อเสียงในเรื่อง เมืองตากอากาศ และ ในอดีตเป็นเมืองท่าที่สำคัญ จึงได้มีนักธุรกิจชาวมาเลย์ นิยมเข้ามาทำธูรกิจคาสิโนเป็นจำนวนมาก

[บทความ] "สุวัณณะโคมฅำ" ตำนานเมืองเชียงแสน


...ตำนานเมืองสุวัณณะโคมฅำ...


"สุวัณณะโคมฅำ" เป็นชื่อตำนานและชื่อเมืองโบราณในเขตจังหวัดเชียงราย ซึ่ง "จิตร ภูมิศักดิ์" ได้ศึกษาสรุปว่าตั้งอยู่บนเกาะใหญ่ริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวตรงดอนมูล เยื้องปากแม่น้ำกกลงไปทางใต้เล็กน้อย อยู่ตรงกันข้ามกับบ้านสวนดอก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ในพงศาวดารโยนก กล่าวว่า ในช่วงปลายศาสนาของพระพุทธโกนาคมะนั้น ได้เกิดโรคระบาด ราชบุตรแห่งเมืองปาตลีบุตรจึงพาผู้คนอพยพไปตั้งอยู่ในเขตโพธิสารหลวง ต่อมาราชบุตรชื่อกุรุวงษากุมารได้สร้างเป็นเมืองขึ้นมา พอพระเจ้าโพธิสารหลวงทราบข่าวก็ไปรบหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้ จนพระองค์ต้องยกราชสมบัติให้แก่กุรุวงษากุมาร ต่อมาได้เรียกชื่อแคว้นนั้นว่ากุรุรัฐและเรียกประชาชนว่า "กล๋อม" ยังมีนางกุมารีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองได้อพยพหนีโรคร้ายไปอยู่ในป่า และพาบริวารปลูกข้าวอยู่ที่ขอบหนองแห่งหนึ่ง และได้สร้างเมืองชื่อ "อินทปฐาน" ต่อมาเจ้ากุรุวงษากุมารได้นางนั้นเป็นชายาจึงรวมสองเมืองเข้าด้วยกันให้ชื่อว่า "อินทปัตถมหานคร"

จากนั้นก็มีกษัตริย์สืบมาถึง ๔๔๘๐๐ องค์ จนถึงสมัยพญาศรีวงษาได้ครองเมืองโพธิสารหลวง พระองค์มีราชบุตรสององค์คือ "อินทรวงษา"และองค์น้องชื่อ"ไอยกุมาร" ซึ่งอินทรวงษาก็ได้ขึ้นครองเมืองสืบจากพระบิดาและมีไอยกุมารเป็นอุปราช

ต่อมาราชบุตรของพญาอินทรวงษาชื่ออินทรปฐมได้อภิเษกกับธิดาของไอยอุปราช มีราชบุตรรวมห้าพระองค์อยู่ครองเมืองโพธิสารหลวง

ต่อมาไอยอุปราชได้ลาจาก ตำแหน่งอุปราช และพาบริวารลงเรือขึ้นไปแม่น้ำโขง จนไปถึงเขตดอนทรายกลางน้ำแม่โขงเยื้องปากน้ำแม่กก จึงตั้งเมืองอยู่ในที่นั้น

หลังจากนางอุรสา ราชเทวีของพญาอินทรปฐมคลอดราชบุตรออกทางปากมีชื่อ "สุวัณณมุกขทวาร" เมื่ออายุ ๗ เดือนก็มีอภินิหารแรงกล้า พาหิรพราหมณ์ปุโรหิตจึงไปทูลยุยงให้ลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปเสีย มิฉะนั้นจะเกิดอุบาทว์แก่เมือง

ฝ่ายไอยมหาอุปราช ทราบว่าพระเทวีและพระกุมารถูกลอยแพก็รีบกลับเมืองแล้วให้จัดพิธีบวงสรวงพญานาคและปักเสาประทีปโคมทองทุกท่าน้ำ ครั้งนั้นพญานาคชื่อ "พญาศรีสัตตนาค" ก็พาบริวารนำหินไปทำฝาย ปิดทางต้นน้ำแม่โขงไว้มิให้ไหลลงสู่สมุทร (ทุกวันนี้เรียกว่า"ฝายนาค"หรือ"ลี่ผี") เมื่อน้ำท้นขึ้นเต็มฝั่งแล้ว แพของพระเทวีและพระกุมารก็ย้อนไปถึงท่าโคมฅำ ไอยมหาอุปราชจึงรับธิดาและนัดดาไว้ แล้วต่อมาก็ให้สร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า "สุวัณณะโคมฅำ" ฝ่ายเมืองโพธิสารหลวง เมื่อลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปแล้วก็เกิดโรคระบาด คนหนีออกจากเมืองไปสมทบกับเมืองสุวัณณะโคมฅำเป็นอันมาก


ต่อมาพระอินทร์ต้องการให้พระราชบิดาและราชบุตรได้พบกัน จึงบันดาลให้มีม้าอัศดรไปยังเมืองโพธิสาร ซึ่งผู้จับขี่ได้คือราชกุมาร ชื่อเทวินทรบวรและม้านั้นก็พาไปพบไอยอุปราชและทุกท่านในเมืองสุวัณณะโคมฅำ เมื่อพระบิดาได้ทราบข่าวแล้วก็เชิญให้พระเทวีและพระโอรสกลับเมือง แต่นางไม่ยอมกลับ พญาอินทรปฐมและไอยอุปราชจึงอภิเษกสุวัณณมุกขทวารราชกุมารขึ้นเป็นพญาในเมืองสุวัณณะโคมฅำ

องค์เทวินทรบวรราชกุมารจึงได้ครองเมืองโพธิสาร สืบจากพระราชบิดา และได้เนรเทศพาหิรพราหมณ์เสีย พาหิรพราหมณ์จึงพาบริวารไปตั้งอยู่ที่เชิงเขา ปลายแม่น้ำกกเบื้องตะวันตก ไกลจากเมืองสุวัณณะโคมฅำชั่วระยะ ๓ คืน เนื่องจากที่อยู่นั้นเป็นถ้ำใหญ่ ต่อมาจึงตั้งชื่อว่าเมือง "อุมงคเสลานคร"

กษัตริย์ในเมืองสุวัณณะโคมฅำสืบต่อจากพญาสุวัณณมุกขทวารมีถึง ๘๔๕๕๐ องค์ จึงสิ้นสุดลง และเชื้อสายฝ่ายพาหิรพราหมณ์ เมืองอุมงคเสลานครได้เป็นใหญ่ในสุวัณณะโคมฅำ และได้ข่มเหงไพร่เมืองให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ยังมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง ทำไร่อยู่ริมแม่น้ำโขง ระหว่างเมืองสุวัณณะโคมฅำและเมืองโพธิสารหลวง มีนางนาคธิดา ๓ นางไปกินข้าวไร่ของปลูกในไร่ของชายนั้น เมื่อพญาศรีสัตตนาคได้รับแจ้งจากชายเข็ญใจว่า ธิดาของตนไปลักกินพืชผลดังกล่าว จึงให้ธิดาทั้งสามแปลงเป็นคนไปรับใช้มานพนั้น 

ต่อมา... นางทั้งสามแนะให้ชายหนุ่มไปค้าขายที่เมืองสุวัณณะโคมฅำ แต่ก็ถูกชาวเมืองทำอุบายใส่ความแล้วริบสินค้า ภายหลังนางนาคธิดาจึงไปกับเรือค้านั้นด้วย เมื่อพญาขอมในเมืองนั้นทำอุบายมาพนันเพื่อจะริบเอาสินค้า นางก็บันดาลให้พญาขอมแพ้ แต่พญาขอมไม่ยอมให้สินพนันตามสัญญาและยังหาเหตุไล่ออกจากเมืองด้วย นางจึงไปทูลพญานาคผู้บิดา พญานาคจึงพาบริวารไปขุดฝั่งน้ำ"ขลนที-ขรนที"คือน้ำของหรือแม่โขง ทำให้เมืองล่มลงในเวลาราตรี พญาขอมเจ้าเมืองและชาวเมืองจมน้ำตายไปมาก ที่เหลือก็แตกกระจายกันไป และมีจำนวนมากที่ไปสมทบอยู่กับชายเข็ญใจพ่อค้าผู้นั้นจนกลายเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมา เมืองสุวัณณะโคมฅำก็ร้างกลายเป็นท่าหลวงไปได้ชื่อว่า "ท่าโคมฅำ"

อนึ่ง "ตำนานเมืองสุวัณณะโคมฅำ" นี้ เป็นที่มาของวรรณกรรมล้านนาหลายเรื่อง ดังพบว่าเรื่อง "สิรสากุมารชาดก" ในชุดปัญญาสชาดก ก็ได้กล่าว ถึงสิรสากุมารว่าคลอดจากทางปาก ถูกเนรเทศ และมีปู่ "อัยยอามาตย์" เป็นผู้อุปถัมภ์คล้ายกับเรื่องในตำนาน และยังมีเรื่องชายหนุ่มไปทำไร่และมีธิดาพญานาคไปกินพืชผล จนต้องไปเป็นผู้รับใช้ ดังปรากฏในเรื่อง "อ้อมล้อมต่อมฅำ"หรือ"ชมพูราชแตงเขียว" เป็นต้น


ที่มา : อุดม รุ่งเรืองศรี เรียบเรียงจาก พงศาวดารโยนก

...ตุง : สัญลักษณ์แห่งศิริมงคล...

 

ตุง... คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง 

ตุง : สัญลักษณ์แห่งศิริมงคล
ตุง คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง  

'ตุง' สัญลักษณ์แห่งล้านนา "ตุง" ของล้านนา ก็คือ "ธง" ของไทยภาคกลางนั่นเอง มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำ ตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย  
ส่วนจุดประสงค์ของการทำตุงล้านนาก็คือ ทำถวายเป็นพุทธบูชาโดยทั้งชาวไทยยวน ไทลื้อ ไทเขิน และไทใหญ่ จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์  
ความงามของตุงจะวัดกันที่ลวดลาย และ สีสรรที่แต่งแต้มประดิษฐ์ลงไปที่ผืนตุง โดยจำแนกตามวัสดุที่ใช้ทำตุงดังนี้  
ตุงผ้าทอ โดยทั่วไปมีขนาดกว้าง 15-50 ซม. ยาว 1-6 เมตร โครงสร้างประกอบด้วย ส่วนหัว-ตัว-หาง นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาว มีลวดลายขิตสีดำและแดงเป็นเส้นพุ่ง อาจสอดสีอื่น ๆ เพื่อความสวยงาม  
ตุงใย ใช้เส้นฝ้ายสีขาวมัดหรือถกคล้ายแมงมุมชักใย มีไม้ไผ่สอดเป็นโครงยึดเป็นช่วงๆ ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เป็นดอกไม้ หรือพู่ห้อย  
ตุงกระดาษ เช่น ตุงไส้หมู ไส้ช้าง ตุงพญายอ โดยการนำกระดาษแก้วสีต่าง ๆ อย่างน้อยแผ่นละสีมารวมกัน พับไปมาแล้วตัดสลับไม่ให้ขาดจากกันเมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้นจะเป็นช่อพวงยาว ผูกติดกับไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ปักตกแต่งหรือใช้ร่วมขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดหรือปักเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์  


ตุง กับงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา ประชาชนจะทำเครื่องสักการะ คือ ธูป น้ำส้มป่อย ตุง และ ช่อตุงหรือธุง อันเป็นเครื่องสักการะ มี 4 ประเภท คือ

1. ตุงเดี่ยว หรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง 2. ตุงไส้หมู บูชาพระเจดีย์ พระธาตุทั้งหลาย
3. ตุงไจยหรือธุงไชย ถวายบูชาพระพุทธรูป เพื่อสร้างความสวัสดีมีชัย
4. ช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชาต่าง ๆ

ตุงจัดเป็นเครี่องสักการะของล้านนาไทย มีตุงหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น งานฉลอง หรืองานปอย งานสืบชาตา หรือขบวนแห่ต่าง ๆ เป็นต้น แม้จนกระทั่งปัจจุบัน ตุงก็ยังมีหน้าที่สำคัญผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา นอกจากนั้นก็ยังมีหน้าที่ใหม่เพิ่มเข้ามาได้แก่ การแห่แหนหรือการประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองงานการท่องเที่ยว ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้นไปอีก ดังเช่น การแห่ตุงพันวาในขบวนแห่สลุงหลวงที่ จ.ลำปาง และในขบวนแห่ต่างๆ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เป็นต้น
ประเภทของตุง ตุงช่อ ทำด้วยกระดาษสี ใช้ปักตกแต่ง
ตุงร้อยแปด ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์
ตุงค่าคิง ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์และงานสงกรานต์
ตุงไส้หมู ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในงานสงกรานต์ และพิธีทางศาสนา
ตุงใย ทำด้วยเส้นด้ายหรือไหม ใช้แขวนหน้าพระพุทธรูป
ตุงไชย ทำด้วยผ้าสี ยกเว้นสีดำ มีลักษณะยาว ใช้ในการฉลองวัด
ตุงสามหาง ทำด้วยผ้าขาวหรือแพรใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย
ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม

-ตุง-หลายท่านอาจเข้าใจว่า,ตุง,เป็นธง แต่อันที่จริงแล้วตุงไม่ใช่ธง ตุงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเชื่อต่างๆ เช่น ตุงที่มีการแบ่งเป็น 7 ช่องซึ่งหมายถึง สวรรค์ทั้ง 7 ชั้น เป็นต้น


ความเชื่อและอานิสงส์การตานตุง (ถวายตุง)
เรื่องการตานตุงหรืออานิสงส์การถวายตุงนี้ ปรากฏในหนังสือสังขยาโลก ตัวอักษรพื้นเมืองในคัมภีร์ใบลานมีว่า... มีภิกษุรูปหนึ่งท่านได้ไปเห็นไม้ตายแห้งท่อน หนึ่งมีลักษณะยาวงามดีมาก ท่านก็นึกที่จะเอาต้นไม้ไปทำ เป็นเสาตุงบูชาไว้ในวัดที่ท่านจำ พรรษาอยู่ แต่บังเอิญท่านมีอันเป็นลมปัจจุบันถึงแก่มรณกรรมลงในทันทีก่อนที่วิญญาณของท่านจะล่องลอยออกจากร่าง ท่านมีจิตประหวัดถึงแต่ไม้ท่อนนั้นจึงทำ ให้ต้องไปปฏิสนธิเป็นตุ๊กแก อาศัยอยู่ที่ไม้ท่อนนั้นได้รับทุขเวทนาเป็นเวลานาน ท่านจึงดลใจให้ชาวบ้านทราบว่า เวลานี้ท่านได้มาเกิดเป็นตุ๊กแกอาศัยอยู่ที่ไม้ต้นนั้น หากพอ พวกชาวบ้านศรัทธาอยากจะให้ท่านพ้นจากกองทุกข์ ก็ขอให้สร้างตุงเหล็ก ตุงทองถวายทานไว้ในพระศาสนา จึงจะช่วยบันดาลให้ท่านหลุดพ้นจากกองทุกข์นี้ได้ เมื่อชาวบ้านทราบเช่นนั้น ก็สร้างตุงเหล็กตุงทอง ถวายไว้ในพระศาสนา พระภิกษุรูปนั้นจึงพ้นจากกองทุกข์ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง  

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏศักราช มีความดังนี้ สิงห์คุตต์อำ มาตย์เอาตุงไปบูชาพระประธานองค์ใหญ่และพระเจดีย์คีรี ครั้นสิ้นอายุจะไปตกนรก พระยายมราชก็แสดงตุงนั้นให้เห็นแล้วกล่าวว่า “เมื่อท่านทำ บุญวันนั้น ท่านยังกรวดนํ้าแผ่กุศลถึงเราและบัดนี้ท่านจงขึ้นไปบนสวรรค์เทอญ”  

และอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ยังมีนายพรานผู้หนึ่งล่าเนื้อมาตั้งแต่อายุได้ ๑๕ ปีจนถึงอายุ ได้ ๔๘ ปี วันหนึ่งเข้าป่าไปเพื่อจะล่าเนื้อ บังเอิญไปถึงวัดศรีโคมคำ ได้เห็นพระปฏิมากร องค์ใหญ่ และมีการประดับตุงเป็นพุทธบูชา เมื่อยามลมพัดต้องเกิดความสวยงามก็มีใจ พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จัดแจงหาผ้ามาทำ ตุง แล้วเอาไปบูชาพระประธานองค์ใหญ่นั้น ครั้นนายพรานผู้นี้ตายไป พระยายมราชมิทันได้พิจารณาก็เอาโยนลงนรก ในทันใดนั้น ตุงที่นายพรานเคยทำเพื่อถวายพระประธานองค์ใหญ่นั้นก็พันเอาตัวนายพรานพ้นจากนรกเสีย พระยายมจึงพิจารณาดูแล้วก็บอกนายพรานขึ้นไปบนสวรรค์  

จุดมุ่งหมายในการสร้างตุง - ถวายเป็นพุทธบูชา สร้างบุญกุศลให้ตนเองและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้พ้นจากเวรกรรมและได้ขึ้นสวรรค์
- ประดับประดาศาสนสถาน ศาสนวัตถุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง
- เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้หมดไป โดยเฉพาะภัยที่เชื่อว่า เกิดจากภูติผีปีศาจ หรือบาปกรรมทั้งหลาย
- ใช้ในทางไสยศาสตร์ ทำ เสน่ห์ บูชาผีสางเทวดา
- ใช้ในพิธีกรรมและเทศกาลต่าง ๆ เช่น พิธีสวดพุทธมนต์ พิธีสืบชะตา การขึ้นท้าวทั้งสี่ การตั้งธรรมหลวง งานปอยหลวง ทอดกฐิน ประเพณีสงกรานต์ประเพณีเกี่ยวกับคนตาย

อานิสงส์ของการสร้างตุง จากหลักฐาน ตำนาน ลิลิต และพงศาวดารต่าง ๆ ได้เขียนถึงอานิสงส์ของการสร้างตุงว่าผู้ที่สร้างตุงถวายเป็นพุทธบูชาจะไม่ตกนรก ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้ากลับมาเกิดในโลกมนุษย์ก็จะเป็นใหญ่เป็นโต ถ้าสร้างอุทิศให้ผู้ตาย ผู้ตายก็จะพ้นจากการไปเป็นเปรตหลุดพ้นจากบาปกรรมที่ทำ ไว้ จากอานิสงส์ดังกล่าวนี้ทำ ให้ชาวล้านนานิยมสร้างตุงกันทุกชั้นวรรณะ ซึ่งรูปแบบของตุงจะมีความแตกต่างกันขั้นอยู่กับฐานะทางสังคมของเจ้าของพิธี พื้นฐานความเชื่อ ของคนในสังคม วัสดุและความสามารถของชาวท้องถิ่น ในการที่จะนำ เอาวัสดุที่มีมาประดับตุง โดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ

สืบสานวัฒนธรรมการใช้ตุง ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุง เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับการตาย งานเทศกาลและเฉลิมฉลองต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิม แต่แนวโน้มการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนไปเนื่องจากบรรดาหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม ซึ่งเรื่องนี้ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า งานบางงานสามารถใช้ตุงปักได แต่ควรใช้ตุงให้ถูกประเภท บางงานนำ ตุงไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เป็นการทำ ลายคติความเชื่อดั่งเดิมของชาวล้านนา เช่น การนำ ตุงไปประดับประดาบนเวทีประกวดนางงาม เป็นต้น หากไม่มีการอนุรักษ์และศึกษารูปแบบคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ตุงให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนนำ ไปใช้แล้ว อนาคตการใช้ตุงในพิธีการต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิมคงจะถูกดัดแปลงให้เพี้ยนไปในที่สุด

ขอขอบคุณ “ตุงล้านนา”
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ
 อดิสร/วรวรรณ/พิมพ์
 รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์/ตรวจทาน
 ๒๗/๓/๒๕๔๕.

...ตำนานเจ้าหลวงคำแดงและถ้ำเชียงดาว...


...ตำนานเจ้าหลวงคำแดงและถ้ำเชียงดาว... 

เรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมาเป็นอมตะคู่กับดอยหลวงเชียงดาว คงจะไม่มีสิ่งใดเทียบเทียม "ตำนานเจ้าหลวงคำแดง" และ "ตำนานถ้ำเชียงดาว" ซึ่งร้อยเรียงผสมผสานกับความเชื่อของคนท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

ตำนานเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดงถูกถ่ายทอดออกมาหลายเรื่องราวด้วยกัน แม้จะมีความต่างในรายละเอียด ทว่าหากพิจารณาให้ถึงแก่นแล้ว เจ้าหลวงคำแดงก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขา เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เป็นที่เคารพ สักการะ ของชาวเหนือ อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และถ้ำเชียงดาวซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเมืองเทวาของเจ้าหลวงคำแดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นขุนเขาที่ชาวเชียงใหม่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผีเมืองเชียงใหม่ทุกองค์ตั้งแต่ก่อนพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ผีเมืองเชียงใหม่มีเจ้าหลวงคำแดงเป็นประธานใหญ่กว่าผีเมืองทั้งหมด

มีเรื่องเล่าว่าทุกวันพระผีทุกผีในเมืองเชียงใหม่จะต้องไปร่วมเฝ้าและประชุมที่ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งในถ้ำเชียงดาวจะมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นห้องประชุม ในวันนั้นผีจะไม่เข้ามาหลอกหลอนชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ผีเมืองที่ดอยหลวงเชียงดาวได้เก็บข้าวจากชาวนาทุกคนที่วางไว้เซ่นไหว้พระแม่โพสพและเป็นค่าน้ำหัวนา ซึ่งจะนำข้าวไปวางไว้ที่หัวนาก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวมาใส่ในยุ้งฉาง ข้าวเหล่านี้ผีดอยจะนำมากิน แล้วจะเหลือเพียงเปลือกหรือแกลบไว้ซึ่งจะเก็บเปลือกข้าวหรือแกลบไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งทางทิศใต้ไม่ไกลจากดอยหลวงเชียงดาวชื่อว่า "ถ้ำแกลบ"

ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงมิเพียงแต่ชาวบ้านจะเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระสงฆ์ในเขตล้านนาก็ได้แต่งและคัดลอกคัมภีร์ใบลานชื่อ ตำนานถ้ำเชียงดาวไว้หลายสำนวน ทั้งที่พบในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆที่ห่างไกลออกไป เช่น ที่เมืองน่าน เป็นต้น


...เจ้าหลวงคำแดงเจ้าตำนาน…แห่งอมตะนิยาย

มีหลายเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดงเป็นไปในลักษณะของ อมตะนิยายพิศวาส อาทิ เล่าเป็นนิยายปรัมปรายุคต้นพุทธกาล กล่าวถึง

สมเด็จองค์อัมรินทราธิราชเจ้า ประมุขแห่งปวงเทพเทวาได้ดำริให้จัดทำสิ่งวิเศษเพื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าศรีอาริยะเมตตรัยที่จะมาตรัสรู้พระสัจธรรมในอนาคต ได้เล็งเห็นว่าถ้ำเชียงดาวเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การเก็บรักษาของวิเศษเหล่านั้น เพราะลึกเข้าไปในถ้ำจนสุดประมาณมิได้ เป็นเมืองแห่งพวกครึ่งอสูรกาย เรียกว่าเมืองลับแล มีความเป็นอยู่ล้วนแต่เป็นทิพย์ ผู้คนทั้งหลายในมนุษย์โลกธรรมดาที่เต็มไปด้วยกิเลสยากนักที่จะเข้าไปพบเห็นได้ เพราะมีด่านภยันตรายต่างๆมากมายหลายชั้นกั้นขวาง ไว้เป็นอุปสรรค

มียักษ์สองผัวเมียบำเพ็ญภาวนารักษาศีลเพราะได้ปฏิบัติตนเป็นผู้ถึงซึ่งพระรัตนตรัยจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีนางผู้เลอโฉมนามว่า "อินเหลา" อยู่ปรนนิบัติบิดามารดาผู้ทรงศีลทั้งสอง จนวันหนึ่งได้พบกับ เจ้าหลวงสุวรรณคำแดง ยุวราชหนุ่ม ซึ่งเสด็จมาประพาสป่าจากแค้วนแดนไกล ได้บังเกิดความหลงใหลในความงามของนาง ก็ได้พยายามติดตามนางไปจนถึงถ้ำเชียงดาว และทิ้งกองทหารของพระองค์ไว้เบื้องหลัง จากนั้นก็ไม่กลับออกมาอีกเลย ว่ากันว่าเจ้าหลวงสุวรรณคำแดงอยู่ครองรักกับเจ้าแม่อินเหลาที่ถ้ำเชียงดาวนั่นเอง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าจะมีเสียงดังสะเทือนจากดอยหลวงเชียงดาว ปรากฏเป็นลูกไฟ ขนาดลูกมะพร้าว สว่างจ้าพุ่งหายไปในดอยนางซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งมีความเชื่อว่า เจ้าหลวงสุวรรณคำแดงลั่นอะม็อกไปเยี่ยมเจ้าแม่อินเหลาที่ดอยนาง


นอกจากนี้ยังมีตำนานเจ้าหลวงคำแดง จากเอกสารที่เขียนขึ้นโดย พระมหาสถิตย์ ติกขญาโณ กล่าวไว้ว่า
พระผู้เป็นเจ้าได้ปกาศิตให้เทวดายักษ์ตนหนึ่งนามว่า เจ้าหลวงคำแดง กับบริวาร 10,000 คนมารักษาของวิเศษในถ้ำเชียงดาว เพื่อรักษาไว้ให้ พระเจ้าทรงธรรมมิกราชใช้ปราบมนุษย์อธรรมในอนาคต ซึ่งนามเดิมของเจ้าหลวงคำแดง คือ "เจ้าสุวรรณคำแดง" ผู้ซึ่งจะมีหน้าที่เฝ้ารักษาถ้ำและดอยหลวงเชียงดาว จะหมดเวลาของการเฝ้ารักษาเมื่อพระเจ้าทรงธรรมมาปราบมนุษย์อธรรมเสียก่อน

และกล่าวถึงเทวดาผู้เป็นชายาของเจ้าหลวงคำแดงมีนามว่า "จอมเทวี" สถิตอยู่ที่ดอยนาง ว่ากันว่าต่างรักษาศีล 8 จึงหาได้อยู่ร่วมกันไม่ ก่อนที่เจ้าหลวงคำแดงและจอมเทวีจะมาอยู่ที่ดอยหลวงเชียงดาวนั้น ชะรอยว่านางจอมเทวีมีนิวาสสถานบ้านเมืองอยู่เดิมอยู่ทางทิศใต้ ไม่ปรากฏชื่อแน่ชัด ส่วนเจ้าหลวงคำแดงนั้นเป็นบุตรของเจ้าเมืองพะเยานามว่า "สุวรรณคำแดง" ซึ่งพระบิดาได้สั่งให้เจ้าหลวงคำแดงพร้อมทหารไปรักษาด่านชายแดนเพื่อป้องกันศัตรู ได้มาพบเห็นสาวงามนางหนึ่ง จึงได้ติดตามนางไปแต่ไม่พบ เจอเพียงกวางทองตัวหนึ่ง จึงสั่งให้ทหารติดตามเจ้ากวางทองตัวนั้นไป และกำชับว่าต้องจับเป็นห้ามทำร้ายเจ้ากวางทองเด็ดขาด เป็นเวลา 3 วันก็ไม่สามารถจับเจ้ากวางทองได้ แต่เจ้าหลวงคำแดงก็ยังไม่ละลดความพยายาม นำทหารติดตามไปเรื่อยๆหมายจะจับกวางทองให้ได้ จนเวลาล่วงเลยไป 10 วันก็ยังไม่พบเจ้ากวางทอง คงเห็นแต่รอยเท้าเท่านั้น และในวันหนึ่งสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาเจ้าหลวงคำแดงและเหล่าทหารก็คือ คราบของกวางทอง อยู่ใกล้กับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสบคาบ จากตำนานเจ้าหลวงคำแดงนั่นเอง

จากนั้นเจ้าหลวงคำแดงก็ติดตามเจ้ากวางทองไปในป่าแห่งหนึ่ง ชื่อว่าดงเทวี ทันทีที่เจ้าหลวงคำแดงตามไปพบ จึงสั่งให้ทหารกระจายกำลังโอบล้อมไว้พร้อมประกาศว่า หากกวางทองหลุดออกจากด่านของผู้ใดผู้นั้นจะต้องถูกตัดหัว ในที่สุดกวางทองตัวนั้นก็หลุดออกมาจากวงล้อมวิ่งผ่านไปทางที่เจ้าหลวงคำแดงอยู่ ดังนั้นเจ้าหลวงคำแดงจึงต้องไปติดตามกวางทองด้วยตัวเองและให้ทหารคอยอยู่ที่ดงเทวี และสั่งว่าหากเกิน 7 วันแล้วพระองค์ยังไม่กลับให้กลับกันไปก่อน แล้วก็ติดตามกวางทองตัวนั้นไปทางทิศตะวันตก

ซึ่งกวางทองมุ่งหน้าไปสู่เขาใหญ่ลูกหนึ่ง แล้วกลายร่างเป็นคนเข้าไปยังถ้ำเชียงดาว เจ้าหลวงคำแดงจึงตามเข้าไปในถ้ำ ตราบเท่าทุกวันนี้ก็ยังไม่กลับออกมา ผู้คนเชื่อว่าพระองค์สิงสถิตรักษาถ้ำเชียงดาว จึงตั้งศาลไว้ชื่อว่า ศาลเจ้าหลวงคำแดง และมีรูปปั้นกวางทองด้วย...







[บทความ] ประวัติ "ข้าวซอย" อาหารอร่อยของเมืองเหนือ

 http://photo.wongnai.com/photos/2013/02/09/b53a1ef4cf034b24a19d7e787fc652eb.jpg

[บทความ] ประวัติ "ข้าวซอย" อาหารอร่อยของเมืองเหนือ

ประวัติข้าวซอย
โดย ภูรินทร์ เทพเทพินทร์

ข้าวซอย...เป็นอาหารคู่เมืองเชียงใหม่ก็จริง แต่มีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนและสัมพันธ์โดยตรงกับประวัติศาสตร์สำคัญบางส่วนของประทศจีน รวมไปถึงเจงกิสข่านแห่งมองโกเลีย อย่างไม่น่าเชื่อ

ก่อนที่จะพูดถึงตัวข้าวซอย ก็ต้องพูดถึงคนผู้เป็นเจ้าตำรับข้าวซอยก่อน เจ้าตำรับข้าวซอยคือชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ชิงไห่ และก่านซู ของประเทศจีน หรือที่เรียกว่า จีนฮ่อ หรือ แข่ฮ่อ (แข่ เป็นภาษาไต ใช้เรียกชาวจีน) หรือ ฮ่อ ที่ผู้เขียนพูดถึงต่อไปนี้ จะหมายถึงคนจีนยูนนานที่นับถืออิสลามเท่านั้น เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คนจีนจากยูนนานที่เดินทางไปมาในถิ่นภาคเหนือของประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม ทิเบต อัสสัม และจีน ส่วนใหญ่เป็น คนจีนที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งนั้น


เนื่องจากพวกเขามีอาชีพ ค้าขายและลำเลียงขนส่งสินค้าด้วยสัตว์ต่าง ในภูมิภาคนี้มานมนานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน (กุบไลข่าน) ซึ่งตรงกับสมัยอาณาจักรโยนก (เชียงแสน) ของไทย หรือที่จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกว่า “เสียมกุก” - สยามแห่งลุ่มน้ำกก ที่นักประวัติศาสตร์เขมรบอกว่า ร่วมมือกับมองโกลทำลายอาณาจักรเขมรนครวัดอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรรมันลงจนป่นปี้ แต่นักประวัติศาสตร์ไทยกลับปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่าไม่จริง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าจริง เนื่องจาก ช่วงเวลาดังกล่าวประจวบเหมาะกับการพลุ่งขึ้นอย่างรวกเร็วของชนชาติพม่าจากทิเบตสู่ลุ่มแม่น้ำอิระวดีเข้ายึดครองดินแดนของมอญ และชนชาติไทยจากตอนใต้ของจีนสู่ลุ่มแม่น้ำโชงและแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ายึดครองดินแดนของเขมร.... แต่คราวนี้ขอว่ากันเรื่องประวัติข้าวซอยก่อนดีกว่านะ


http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/763/23763/images/wangmoak/IMG_0130.JPG

มีผู้อธิบายคำว่า “ฮ่อ” ไว้หลายทฤษฎี แต่ผู้เขียนเข้าใจว่า คำนี้มาจาก คำว่า “หุย” ซึ่งเป็นภาษาจีนหมายถึงชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งพวกมองโกลพามาจากเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง ปัจจุบันคือประเทศ คาซัคสถาน, กีรจีสถาน, ทาจิกิสถาน และ อูสเบกิสถาน ตอนแรกก็มาเป็นทหารร่วมในกองทัพมองโกล และถูกส่งมาควบคุมจุดยุทธศาสตร์ เส้นทางคมนาคม ต่อมากองทหารเหล่านี้ก็เข้าร่วมผสมปนเปกับชาวจีนและชนชาติพื้นเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ แถบเมืองต้าหลี่ จนลืมภาษาและวัฒนธรรมเอเชียกลางเดิมของตนหมด ยกเว้นภาษาอาหรับและศาสนาอิสลาม นอกนั้นรับเอาภาษาและวัฒนธรรมจีนมาใช้ทั้งหมด พวกเขาประกอบอาชีพค้าขายและขนส่ง ซึ่งชาวหุยส่วนนี้นอกจากจะในการใช้สัตว์พาหนะแล้วยังต้องใช้ความสามารถทางการค้าและการทหารไปพร้อม ๆ กัน

นี่คือเหตุผลที่ทำให้มุสลิมจีนแตกต่างไปจากมุสลิมในที่อื่น ๆ ของโลก แม้แต่ทุกวันนี้ในสังคมไทยก็มีความแตกต่างกันระหว่าง ฮ่ออิสลาม และไทยมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ

อยู่มาหลายร้อยปี จนกระทั่งปี ค.ศ.1856 (พ.ศ.2399) เกิดกรณี ชาวฮั่นสังหารหมู่ชาวหุยขึ้นในเมืองคุนหมิงโดยการสนับสนุนจากทางการราชวงศ์ชิง ชาวหุยจึงตอบโต้ด้วยการก่อกบฏภายใต้การนำของ ตู้เหวินซิ้ว เข้ายึดเมืองต้าหลี่ไว้ได้ ประกาศตัวเป็นเอกราช เรียกรัฐอิสลามของตนว่า ผิงหนานกว๋อ – “ประเทศทักษิณสันติสุข” แล้วส่งกำลังเข้าปิดล้อมเมืองคุนหมิงหลายครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะชาวหุยเท่านั้นแต่ยังมีชนชาติส่วนน้อยอื่น ๆ เช่น ไป๋ อาหนี หยีและไต เข้าร่วมด้วยเป็นอันมาก เนื่องจากเกลียดชังที่มีต่อการปกครองที่กดขี่ของราชวงศ์ชิง

กบฏมุสลิมในยูนนาน หรือกบฏฮ่อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับ “กบฏไท่ผิง” ค.ศ.1850–1864 (พ.ศ.2393-2407) ที่ต่อต้านความชั่วร้ายของการปกครองราชวงศ์ชิง นอกจากนี้กบฏไท่ผิงยังกระตุ้นให้เกิดกบฏหุยในมณฑลส่านซี และก่านซู ที่เรียกในประวัติศาสตร์จีนว่าว่า “กบฏตุ้นก่าน”
ฟังดูแล้วเหมือนกับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยไม่มีผิด เนื่องจากในเวลานั้นราชวงศ์ชิงเสื่อมทรามลงอย่างหนักใกล้ล่มสลาย ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง กดขี่รีดนาทาเร้นประชาชนอย่างหนักหน่วง ชาวหุยที่เป็นชนชาติส่วนน้อยยิ่งถูกกระทำอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าชาวฮั่น โดยเฉพาะในยูนนาน ก่านซู ชิงไห่ และซินเจียง ที่ถือว่าเป็นดินแดนห่างไกล

แต่ในที่สุด กบฏมุสลิมก็ถูกรัฐบาลชิงปราบปรามลงได้ราบคาบในปี ค.ศ.1873 (พ.ศ.2416) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย ว่ากันว่า ทางการจีนปราบปรามกบฏมุสลิมอย่างโหดร้าย มีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมอย่างไม่เลือกหน้า แบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยทีเดียว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในยูนนานหลายล้านคน ชาวหุยยูนนานจำนวนมากต้องอพยพหนีออกจากจีน เข้าไปในพม่า (ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ เมืองมัณฑะเลย์) ไทยและลาว บางส่วนก็เข้าปล้นสะดมบ้านเมืองต่าง ๆตามรายทางที่ผ่านไป จนเกิดกรณีอย่าง สงครามปราบฮ่อ (พ.ศ.2420-2428) ขึ้นเป็นต้น

ราวปี พ.ศ.2420 มีชาวฮ่อกลุ่มหนึ่งจำนวนหลายร้อยครอบครัวอพยพหนีการปราบปรามของรัฐบาลจีน มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่มณฑลพายัพ (เชียงใหม่) ทางการจึงให้พักอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือของตำบลข่วงสิงห์ บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า หนองฮ่อ อันเป็นที่ตั้งของสนามม้าหนองฮ่อ ทุกวันนี้ ต่อมาทางการจึงยอมผ่อนปรนให้ชาวฮ่อบางส่วนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านฮ่อ” ถนนเจริญประเทศ ตั้งแต่ตรอกสุเหร่าไปจนถึง กงสุลอังกฤษ บ้างก็ไปอยู่บ้านสันป่าข่อย และนอกประตูช้างเผือก ชาวฮ่ออพยพบางส่วนทางการก็ให้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง


http://bellhub.files.wordpress.com/2013/09/img_7430.jpg

ชาวฮ่อ (แข่บก หรือ แข่ฮ่อ) พอตั้งหลักแหล่งได้ ก็ประกอบอาชีพที่ตนถนัด คือทำการค้าขาย ส่วนหนึ่งก็ขายอาหาร เหมือนกับคนไทยที่ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ต่างประเทศ อาชีพแรก ๆ ที่มักจะทำคือเปิดร้านอาหาร เข้าใจว่าเชียงใหม่เวลานั้น มีคนจีนยังไม่มากนัก รวมทั้งบรรพบุรุษฝ่ายบิดาของผู้เขียน ซึ่งเป็นจีนแต้จิ๋ว (แข่น้ำ) ส่วนใหญ่อาศัยรวมกันอยู่ริมแม่น้ำปิงแถววัดเกตุฯ ร้านอาหารจีน ซึ่งตอนนั้นจะเป็นร้านข้าวต้ม และร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ยังมีไม่มากนัก ส่วนชาวฮ่อก็เปิดร้านข้าวซอย

ที่เรียกว่าข้าวซอย เพราะในสมัยนั้นไม่มีเครื่องจักรอย่างสมัยนี้ สมัยนั้นเขาทำเส้นบะหมี่กันสด ๆ แล้วลงหม้อต้มเลย ด้วยกระบวนการเอา แป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันแล้วนวด จนเข้ากันดี แล้วกดรีดให้เป็นแผ่น แล้วเอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้น นี่แหละเขาจึงเรียกว่า “ข้าวซอย”

มาจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2475 ชุมชนเมืองเชียงใหม่มีขนาดโตขึ้นมาก มีตลาดวโรรส หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า “กาดหลวง” เป็นตลาดกลางของเมืองเชียงใหม่ โอกาสหลังผู้เขียนจะค่อยเล่าความเป็นมาของกาดหลวงให้ฟัง ตอนนี้เอาเรื่องข้าวซอยก่อน ตอนนั้นมีร้านข้าวซอยฮ่อร้านหนึ่งมาตั้งอยู่ทางหลังตลาดบริเวณแถวศาลเจ้ากวนอู ในตรอกข่วงเมรุ ข้าวซอยสมัยนั้น ก็เป็นเพียงเส้นหมี่ลาดน้ำแกงไก่หรือแกงเนื้อ คล้ายขนมจีนน้ำเงี้ยวนั่นแหละ ไม่ได้ใส่กะทิใด ๆ เพราะคนไทยภาคเหนือยุคนั้นไม่นิยมอาหารที่มีกะทิ ขืนใส่กะทิก็ไม่มีคนกิน ร้านข้าวซอยเจ้านี้มีลูกจ้างชาวพื้นเมืองคนหนึ่งชื่อ “นายปัน” นายปันคนนี้ว่ากันว่าทำงานกับร้านข้าวซอยมาแต่เด็ก จึงรู้เรื่องและมีความชำนาญทุกอย่างเกี่ยวกับข้าวซอยเป็นอย่างดี

http://www.pholfoodmafia.com/webboard/images/webboard_img/9_20121001_122451.jpg

จนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ส่วนประเทศจีนอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร จึงกลายเป็นคู่สงครามกับไทย ชาวจีนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยในเชียงใหม่ ร่วมทั้งชาวฮ่อ ต้องถูกบังคับให้อพยพไปควบคุมอยู่ที่จังหวัดลำปาง นายปันจึงรับเอากิจการข้าวซอยมาทำต่อด้วยความยากลำบากในเศรษฐกิจในยุคสงคราม

http://www.bloggang.com/data/chim/picture/1257476010.jpg

ตราบจนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี พ.ศ.2488 ตอนนั้นเชียงใหม่ไม่มีร้านข้าวซอย ยกเว้น ร้านของนายปันเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ที่ข้างวัดช่างฆ้อง ถนนกำแพงดิน ไม่มีชื่อร้านแต่คนเชียงใหม่เรียกว่า “ข้าวซอยลุงปัน” หรือ “ข้าวซอยวัดช่างฆ้อง” เศรษฐกิจยุคหลังสงครามค่อย ๆ ดีขึ้นผู้คนจึงเริ่มกินเริ่มใช้ รวมทั้งคนจีนที่ถูกบังคับให้ไปอยู่ลำปางเริ่มทยอยกลับมาเชียงใหม่ พร้อมคลื่นอพยพของชาวจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่ หนี้การล่มสลายเศรษฐกิจของจีนภายใต้รัฐบาลก๊กมิ่นตั๋ง


http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2054748

เพื่อให้อยู่รอดของธุรกิจข้าวซอยลุงปันจึงพัฒนาข้าวซอยรูปแบบใหม่ ที่เป็น...ข้าวซอยหมู... ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ข้าวซอย ที่ได้พัฒนาแปลงศาสนาจากอิสลามมาเป็นพุทธ เนื่องจากปัญหาเรื่องแกง เวลานั้นเนื้อวัวขาดแคลน ถ้าใช้แกงฮังเล มาทานกับข้าวซอยก็จะไม่อร่อย ด้วยการลองผิดลองถูกจึงได้สูตรนำกะทิสดมาใช้ ปรากฏว่าฮิตบินติดตลาด ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ข้าวซอยลุงปันเปิดขาย ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ไปถึง บ่าย 2 โมงก็หมดแล้ว จนข้าวซอยลุงปัน กลายมาเป็นมาตรฐานข้าวซอยของคนเชียงใหม่ไป ชาวฮ่อที่กลับมาเชียงใหม่เริ่มเปิดขายข้าวซอยหลังปี พ.ศ.2500 ต่างก็ต้องปรับสูตรข้าวซอย ให้เข้ามาตรฐานของข้าวซอยลุงปันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ใช้กะทิสด มาจนทุกวันนี้